มหกรรมฟุตบอลโลก 2022 กับการกระตุ้นเศรษฐกิจในกาตาร์

มหกรรมฟุตบอลโลก 2022 กับการกระตุ้นเศรษฐกิจในกาตาร์
(World Cup 2022 in stimulating Qatar’s Economy)
...................................

 ดร.บัณฑิต อารอมัน
วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยเกริก

วารสารมหาวิทยาลัยเกริก Proceeding การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 18
กระบวนทัศน์ใหม่การวิจัยไทย-จีน-ซาอุดิ อาระเบีย วันที่ 17 ธันวาคม 2565

บทคัดย่อ


บทความวิชาการเรื่อง “มหกรรมฟุตบอลโลก 2022 กับการกระตุ้นเศรษฐกิจในกาตาร์” มีเป้าหมายการศึกษาเพื่อ 1) ทำความเข้าใจความเป็นมาของการจัดฟุตบอลโลกในกาตาร์ปี 2022 และ 2) ศึกษาโอกาสทางเศรษฐกิจของกาตาร์ผ่านการจัดฟุตบอลโลกปี 2022 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของกาตาร์สู่การผลักดันให้เกิดผลสำเร็จด้านธุรกิจและความร่วมมือทางเศรษฐกิจในมิติของการท่องเที่ยว และการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวระดับสูงจากทั่วโลก

จากผลการศึกษา พบว่า แม้จะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนต่อจุดคุ้มทุน แต่การจัดฟุตบอลโลกในปี 2022 ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้แรงงานจากต่างประเทศจำนวนมากกว่า 1.7 ล้านคน เพื่อจัดเตรียมความพร้อมตั้งแต่เส้นทางการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทำให้เกิดการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศกาตาร์เป็นอย่างมาก เช่น กระแสของฟุตบอลโลกเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในเชิงการผลักดันให้ประเทศกาตาร์เป็นจุดหมายปลายทางของนักธุรกิจทั่วโลก เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ปรับภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการลงทุน การเชื่อมทางการค้า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจากเดิมที่เป็นพื้นที่ทะเลทราย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูง และเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระยะยาว พร้อมกับบูรณาการระหว่างความโดดเด่นทางอารยธรรม มรดกของประเทศ สร้างความเป็นเลิศด้านการศึกษาและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีข้อค้นพบว่าการใช้แนวคิดการด้านการส่งเสริมการจัดกิจกรรมกีฬาในระดับนานาชาตินั้นเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และดึงดูดกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนอีกด้วย ทั้งในแง่ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบหรูหรา เจาะกลุ่มตลาดคนระดับสูง ซึ่งในกรอบวิสัยทัศน์ 2030 ของกาตาร์ก็ได้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองในทุกด้านเพื่อให้สังคมมีความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูงเช่นกันด้วย

คำสำคัญ 1) กาตาร์ 2) วิสัยทัศน์ 2030 3) ฟุตบอลโลก 2022 4) เศรษฐกิจ 5) การท่องเที่ยว

Abstract

The article on “World Cup 2022 in stimulating Qatar’s Economy” aims to study on 1) Understanding the background for hosting World Cup 2022 in Qatar and 2) to study the economic opportunity of Qatar through World Cup 2022 which is one of the main goals of Qatar to engage the key success of business and economic cooperation in tourism, investment and reimage the nation to be as a central of high-end tourism.

The study found that even no evident to prove the break-even points but organizing World Cup 2022 which spend highest ever about 200,000 $ million and project done by foreign migrant workers in approximately 1.7 million people for hosting the World Cup shown the business opportunities in Qatar such as the trend of World Cup is becoming the key stimulate the national economy and support investors to invest in Qatar, this opportunity could be achieve in financial hub, and reimage the nation from the desert to tourist attraction for high-end groups and also focused on medical tourism in a long term. Qatar has integrated from the local civilization, national heritage and the intellectual of education for the economic sustainability.

Moreover, it is found that the concept of supporting international sport events are related to promotion of tourism and engage the investor around the globe to invest in Qatar, not only in the development of luxury and sustainability of the nation under the guideline of Qatar’s vision 2030 but also aims to develop the quality of people in Qatar in all aspects in order to support the social security and instability.

Keywords 1) Qatar 2) Vision 2030 3) World Cup 2020 4) Economic 5) Tourism

บทนำ

ประเทศกาตาร์กับประชากรกว่า 3 ล้านคน เป็นประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคตะวันออกกลาง (เอเชียตะวันตก) มีพื้นที่ติดกับอ่าวอาหรับ เป็นประเทศเล็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงเป็นลำดับต้นของโลก และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) อีกทั้งยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน และบทบาทสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ (กระทรวงการต่างประเทศ, 2563)

การที่กาตาร์ทุ่มงบประมาณกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.2 ล้านล้านบาท) เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 นั้นนับว่าเป็นครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีการจัดแข่งขันและเป็นประเทศเขตเมืองร้อน แต่กาตาร์กลับพลิกโฉมประเทศด้วยการทุ่มทุนที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกนับตั้งแต่มีการจัดฟุตบอลโลกมา ในขณะที่กาตาร์มีความมุ่งหวังว่าผลจากการจัดมหกรรมฟุตบอลโลกนี้จะสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้จากการจัดฟุตบอลโลกไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6 แสนล้านบาท) ในช่วงการแข่งขัน

แม้ว่าการลงทุนจะมากกว่ารายรับที่คาดไว้ แต่เป็นการลงทุนระยะยาวที่จะดึงการท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้าประเทศได้อีกจำนวนมากตามวิสัยทัศน์ 2030 เมื่อกระแสการจัดงานมหกรรมฟุตบอลโลกเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มแฟนบอลกว่าแสนคนจากทั่วทุกมุมโลกตื่นตัว ส่งผลให้กาตาร์สามารถใช้กระแสกีฬากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าในช่วงที่มีมหกรรมฟุตบอลโลกในปี 2022 นั้นทุกสายตาจับจ้องไปที่กาตาร์ที่ต้องทุ่มเงินสร้างสนามกีฬาฟุตบอลแห่งใหม่อย่างน้อย 7 สนาม จาก 8 สนามครอบคลุมการแข่งขันตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันในรอบแรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ

แม้ว่าประเทศกาตาร์ไม่เคยผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกเลยแม้สักครั้งเดียว ทำให้มีข้อสงสัยนานาประการว่าการได้ถูกคัดเลือกเป็นเจ้าภาพนั้น มีความชอบธรรมหรือไม่ เส้นทางการคัดเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกเต็มไปด้วยข้อถกเถียงในสังคมของการกีฬามาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีกระแสต่อต้านหลายแง่มุม เช่น กรณีกล่าวหานายโมฮาเหม็ด บิน ฮัมมัม อดีตประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียเรื่องสินบนกับสมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Federation Internationale de Football Association: FIFA) หรือ ฟีฟ่า ทั้งในช่วงระหว่างการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพ และจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการสนับสนุนการจัดการแข่งขันฟตบอลโลกของกาตาร์ (LIAM KILLINGSTAD, 2022) อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาแล้วตั้งแต่ปี 2014 และผลการเสนอเจ้าภาพเป็นไปตามมติของสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เมื่อกาตาร์ได้รับการคัดเลือกจึงเป็นโอกาสสำคัญในการพิสูจน์ว่า ประเทศเล็ก ๆ ในตะวันออกกลางจะสามารถทำให้การจัดการแข่งขันมหกรรมฟุตบอลโลกในปี 2022 ออกมาได้ในทิศทางใด

แม้ว่าการรับรองของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติอย่างเป็นทางการว่า กาตาร์จะได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ทำให้ประเทศร่ำรวยแห่งนี้กลายเป็นประเทศแรกในตะวันออกกลางที่ได้รับโอกาสจัดมหกรรมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ความสำเร็จนี้อาจไม่ใช่เป้าหมายแค่เรื่องการสนับสนุนการกีฬาเพียงอย่างเดียว ความพยายามของกาตาร์นำมาสู่การปรับทัศนคติใหม่ ๆ ให้กับประชาคมโลกที่ใช้กรอบความคิดการกีฬาและการท่องเที่ยวมาพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับงานศึกษาของ Mike Weed ที่ได้สรุปการท่องเที่ยวเชิงกีฬาว่าเป็นส่วนสำคัญของรายได้ของประเทศและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ซึ่ง Mike Weed ได้นิยามการท่องเที่ยวเชิงกีฬาว่าเป็นการพักผ่อนโดยบุคคลต่าง ๆ ออกจากที่อยู่อาศัยชั่วคราวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาทางกายภาพ ชมกิจกรรมกีฬา หรือเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกีฬาในด้านต่าง ๆ (Mike Weed, 2005)

อย่างไรก็ตาม กาตาร์ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับคณะกรรมการฟีฟ่าว่าสามารถเดินหน้าเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องผ่านการก่อสร้างโรงแรมหรู ที่พักอาศัยระดับสูงเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติ กาตาร์จึงต้องปรับเปลี่ยนประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนผ่านของความเป็นสมัยใหม่ โดยเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับประชาชนของประเทศ การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อปรับแนวทางของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ และการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศและยกระดับประเทศให้เป็นสังคมขั้นสูงที่สามารถสร้างมาตรฐานและความยั่งยืน

ก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศกาตาร์

 การค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศกาตาร์ ทำให้ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ที่เคยถูกขนานนามว่าเป็นประเทศที่ยากจนในตะวันออกกลางกลายเป็นประเทศหนึ่งที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กาตาร์พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ปี 1930 มีสัดส่วนของประเทศที่มีน้ำมันสำรอง 1.5% ของจำนวนน้ำมันทั้งหมดในโลกและอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก (Anshool Deshmukh, 2021) ในขณะที่มีสัดส่วนของประเทศที่มีก๊าซ 12.5% ของจำนวนก๊าซทั้งหมดในโลกและอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก (Worldometers, 2021) การค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศกาตาร์ ทำให้ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ที่เคยถูกขนานนามว่าเป็นประเทศที่ยากจนในตะวันออกกลางกลายเป็นประเทศหนึ่งที่ร่ำรวยที่สุดในโลก กาตาร์พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ปี 1930 มีสัดส่วนของประเทศที่มีน้ำมันสำรอง 1.5% ของจำนวนน้ำมันทั้งหมดในโลกและอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก (Anshool Deshmukh, 2021) ในขณะที่มีสัดส่วนของประเทศที่มีก๊าซ 12.5% ของจำนวนก๊าซทั้งหมดในโลกและอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก (Worldometers, 2021) 

กาตาร์กำลังเข้าสู่โหมดของภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปในตะวันนออกกลาง ซึ่งอารยธรรมของประเทศมักมีมายาคติว่า กลุ่มประเทศอาหรับมักจะถูกปิดกั้นทางความคิด มีปัญหาด้านการสร้างความเท่าเทียม การจำกัดสิทธิ์ของเพศหญิง เรื่องเหล่านี้กำลังจะถูกพิสูจน์จากมหกรรมการจัดฟุตบอลโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้มายาคติต่าง ๆ ลดเลือนหายไปจากความคิดเดิม ๆ ที่มีอยู่โดยใช้ประสบการณ์จริง อันจะนำมาซึ่งการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการต่อยอดทางธุรกิจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

การกระตุ้นเศรษฐกิจของกาตาร์เริ่มจากการสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งในเรื่องของการออกกฎหมายเงินเดือนพื้นฐานที่จะช่วยอุดหนุนการพัฒนาชีวิตของคนกาตาร์ในระดับสูง อีกทั้งยังกำหนดนโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นการทำวีซ่าให้ประเทศมากถึง 80 ประเทศ ในช่วงของการดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬา และสร้างที่พักต่าง ๆ เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกแล้ว ทำให้กลุ่มคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในกาตาร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานจากสเปน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบังกลาเทศ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของกาตาร์เติบโตอย่างรวดเร็วไปพร้อมกับการรักษาวัฒนธรรมอาหรับไว้ได้อย่างดี โดยกาตาร์ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ชีคฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี (Sheikh Hamad bin Khalifa Al Thani) ประมุขแห่งกาตาร์ได้ขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในเวทีนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้กำหนดวิสัยทัศน์ 2030 โดยมีเสาหลักในการพัฒนาทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ การพัฒนาสังคมด้วยหลักความยุติธรรมและเอื้ออาทรบนพื้นฐานของมาตรฐานทางศีลธรรม การพัฒนาเศรษฐกิจที่สามารถแข่งขันกับความหลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างมาตรฐานการครองชีพที่สูงให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ ตลอดจนการการจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคลองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมและเสริมสร้างบทบาทในประชาคมระหว่างประเทศ (Qatar.net, 2008) 

นอกจากนี้ก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงประเทศกาตาร์มาจากสินค้าส่งออกของกาตาร์ที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ในขณะที่สินค้านำเข้าจะเป็นสินค้าจำพวกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เหล็ก และเหล็กกล้า เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ซึ่งตลาดการส่งออกคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน อินเดีย และตลาดนำเข้าคือ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (กระทรวงการต่างประเทศ, 2565)

แม้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กาตาร์ยังคงรักษาค่านิยมทางวัฒนธรรมดั้งเดิมในฐานะประเทศอาหรับและประเทศมุสลิมที่ถือว่าครอบครัวเป็นเสาหลักของสังคมและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ซึ่งกาตาร์มีผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างท่านชีคฮะมัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี โดยขับเคลื่อนให้ประเทศกาตาร์มุ่งสู่การพัฒนาประเทศ และเสริมสร้างบทบาทในประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงการแสวงหาแนวร่วมในการสนับสนุนการจัดมหกรรมฟุตบอลโลกในครั้งนี้ด้วย

แนวคิดการลงทุนของกาตาร์เพื่อการจัดมหกรรมฟุตบอลโลก

ประเทศกาตาร์มีบทบาทสำคัญในด้านผลักดันหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาธุรกิจการกีฬามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2011 ได้เป็นเจ้าภาพการแข่งกีฬาฟุตบอลเอเชียนคัพ และอาหรับเกมส์แล้วตามลำดับ นอกจากนี้สายการบินกาตาร์ได้สนับสนุนสโมสรบาเซโลน่า และซื้อหุ้นทีม Paris Saint-Germain มูลค่ารวมกว่า 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวกาตาร์ (LIAM KILLINGSTAD, 2022) ทำให้ประเทศกาตาร์เป็นที่รู้จักในฐานะสปอนเซอร์รายใหญ่ของการขับเคลื่อนกีฬาฟุตบอลในทวีปยุโรป และมีเป้าหมายสำคัญในการจัดฟุตบอลโลกจนได้รับการคัดเลือก 

จากการศึกษางบประมาณของประเทศที่เคยจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในช่วงระหว่างปี 1994 – 2022 พบว่า ประเทศที่ใช้งบประมาณมากที่สุดมีดังนี้

1) ประเทศกาตาร์ใช้งบประมาณมากที่สุดถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022
2) ประเทศบราซิลใช้งบประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2014
3) ประเทศรัสเซียใช้งบประมาณ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018
4) ประเทศญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2002
5) ประเทศเยอรมนีใช้งบประมาณ 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2006
6) ประเทศแอฟริกาใต้ใช้งบประมาณ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010
7) ประเทศฝรั่งเศสใช้งบประมาณ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1998 และ
8) ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1994

นับได้ว่าจำนวนงบประมาณในการลงทุนเพื่อจัดมหกรรมฟุตบอลโลกของประเทศกาตาร์มีมูลค่ารวมแล้วมากกว่าจำนวนเงินที่ลงทุนจัดฟุตบอลโลกตั้งแต่ปี 1994 – 2018 (LIAM KILLINGSTAD, 2022) 

ด้วยการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 กาตาร์มีโอกาสแสดงศักยภาพและประสบการณ์ในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการทำธุรกิจกับกาตาร์ในด้านต่าง ๆ และสร้างโอกาสให้ธุรกิจกาตาร์ส่งออกความรู้โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยสามารถยกระดับและสร้างมาตรฐานการครองชีพระดับสูงได้ ซึ่งสามารถสร้างการเติบโตให้ธุรกิจนั้น การควบคุมงบประมาณให้น้อยที่สุดถือเป็นเรื่องดี แต่การที่กาตาร์ยอมลงทุนกับการจัดฟุตบอลโลกด้วยเงินจำนวนมาก ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นประโยชน์มหาศาลกลับคืนสู่กาตาร์ได้เช่นกัน สอดคล้องกับแนวคิดการลงทุนซื้อหุ้นสโมสร Paris Saint-Germain, PSG และลงทุนทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อซื้อตัวผู้เล่นอย่าง ลีโอเนล เมสซี่ ด้วยเหตุนี้ แนวคิดการลงทุนของกาตาร์เพื่อการจัดมหกรรมฟุตบอลโลก จึงเป็นเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้การกีฬานำเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดึงดูดด้านการท่องเที่ยว และนักลงทุนจากต่างประเทศ

เส้นทางการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของกาตาร์

ฟุตบอลโลกเป็นทัวร์นาเมนต์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมีผู้ชมเฉลี่ยมากกว่า 3 ล้านคนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (1998-2018) ยังไม่รวมผู้ชมจากทางโทรทัศน์ หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดที่ประเทศรัสเซีย มีผู้ชมมากถึง 35,700 ล้านคนทั่วโลก การถูกคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของประเทศกาตาร์ในปี 2022 แม้ว่าเงื่อนไขของฟีฟ่าจะไม่ได้มีข้อกำหนดว่าประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพนั้นจะเคยผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นในฟุตบอลโลกหรือไม่ ซึ่งเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นเคยได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพบอลโลกในปี 1998 และก็ไม่เคยผ่านไปเล่นฟุตบอลโลกก่อนหน้านี้ ประเทศร่ำรวยอย่างกาตาร์จึงมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเช่นกัน ด้วยความพร้อมในด้านงบประมาณและความพร้อมของสนามการแข่งขัน ประเทศกาตาร์จึงมุ่งมั่นสู่เส้นทางการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการในปี 2022

เส้นทางการคัดเลือกสู่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฟีฟ่า ซึ่งต้องคัดเลือกประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 4 รอบ (Jamie Jackson, 2022) โดยประเทศที่ได้รับคะแนนสนับสนุนน้อยที่สุดจะถูกคัดชื่อออกตามลำดับ รายงานจาก theguardian ชี้ให้เห็นว่าคะแนนนิยมของประเทศกาตาร์ได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการฟีฟ่ามาโดยตลอด ซึ่งการคัดเลือกในรอบแรก มี 5 ประเทศ โดยมีผลดังนี้ 

 

การคัดเลือกในรอบแรก

มี 5 ประเทศ

ออสเตรเลียได้คะแนนโหวต 1 คะแนน

(ออสเตรเลียตกรอบ)

ญี่ปุ่น ได้คะแนนโหวต 3 คะแนน

สหรัฐอเมริกา ได้คะแนนโหวต 3 คะแนน

เกาหลีใต้ได้คะแนนโหวต 4 คะแนน

กาตาร์ได้คะแนนโหวต 11 คะแนน

การคัดเลือกในรอบสอง มี 4 ประเทศ

 

ญี่ปุ่น ได้คะแนนโหวต 2 คะแนน

(ญี่ปุ่นตกรอบ)

สหรัฐอเมริกา ได้คะแนนโหวต 5 คะแนน

เกาหลีใต้ได้คะแนนโหวต 5 คะแนน

กาตาร์ได้คะแนนโหวต 10 คะแนน

การคัดเลือกรอบที่สาม มี 3 ประเทศ

 

 

สหรัฐอเมริกาได้คะแนนโหวต 6 คะแนน

สาธารณรัฐเกาหลีได้คะแนนโหวต 5 คะแนน

(สาธารณรัฐเกาหลีใต้ตกรอบ)

กาตาร์ได้คะแนนโหวต 11 คะแนน

การคัดเลือกรอบสุดท้าย มี 2 ประเทศ

 

 

สหรัฐอเมริกาได้คะแนนโหวต 8 โหวตคะแนน

 

กาตาร์ได้คะแนนโหวต 14 คะแนน
(กาตาร์ได้รับการคัดเลือก)

 ***กาตาร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยได้รับคะแนนโหวตรอบสุดท้าย 14 คะแนน 

 ด้วยต้นทุนของประเทศกาตาร์ทั้งในด้านนโยบายเงินลงทุน และการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ และสนองต่อความต้องการของประชาชนภายในประเทศ กาตาร์จึงให้ความสำคัญกับกลุ่มทุนจัดการแข่งขันฟุตบอลที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยนอกจากงบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปสร้างสนามฟุตบอล ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาอากาศร้อนแล้ว ยังเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งในด้านคมนาคม การพัฒนาการศูนย์กลางการค้า และการลงทุน หน่วยงานทางสถิติของกาตาร์ได้รายงานว่าการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ตั้งแต่ปี 2010 – 2021 มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 4.56 (World Bank, 2022)

 

 Source: World Bank retrieved on 09/09/2022 from www.macrotrends.net/countries/QAT/qatar/gdp-growth-rate'>Qatar GDP Growth Rate 2001-2022</a>. www.macrotrends.net. 

 ความท้าทายของกาตาร์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

แม้ว่าการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกจะมีความท้าทายหลายประการ ทั้งในเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่มีความร้อนสูงและอาจส่งผลกระทบกับนักกีฬาและนักท่องเที่ยว ฮัสซัน อัล-ทาวาดี ผู้บริหารระดับสูงของการประมูลกล่าว "ความร้อนไม่ใช่และจะไม่เป็นปัญหา" การปรับเปลี่ยนเป็นสนามฟุตบอลให้สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในสนามได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ถ้าหากทำได้จะดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูงที่นิยมกีฬาฟุตบอล และมุ่งหมายที่จะมาชมการแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลกได้มากขึ้น นอกจากนี้กฎเกณฑ์และเงื่อนไขของอิสระเสรีภาพในการเข้าถึงความบันเทิง และการเฉลิมฉลองที่ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มแฟนกีฬาชะงักในเรื่องการไปชมการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากาตาร์จะประสบปัญหาในด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อคนภายนอก ซึ่งต้องเผชิญกับอุณภูมิสูงกว่า 35 องศา ประเทศกาตาร์จึงเป็นประเทศแรกที่เสนอฟีฟ่าเพื่อขอจัดการแข่งขันในช่วยเดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นประเทศแรกของโลก เหล่านี้ล้วนแต่มีความท้าทายต่อการเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การเดินทางก่อสร้างและลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 200,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ต้องใช้แรงงานจำนวนมากกว่า 1.7 ล้านคน เพื่อให้การเตรียมความพร้อมมีความสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอ ๆ กับประชากรทั้งหมดในประเทศ แต่กาตาร์ต้องเจอกับความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่งคือการควบคุมแรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กร Amnesty International ได้ระบุว่า ปัญหาระหว่างการดำเนินการก่อสร้างสนาม และโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ มักจะเกิดการร้องเรียงเรื่องการละเมิดสิทธิและการการรัดเอาเปรียบจากนายจ้าง รัฐบาลกลางกาตาร์จึงเร่งแก้ไขปัญหาโดยการออกกฎหมายใหม่ที่มุ่งให้ประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติ และออกกฎหมายสำหรับแรงงาน โดยจัดตั้งคณะกรรมการระงับข้อพิพาทแรงงานและจัดตั้งกองทุนสนับสนุนและประกันแรงงานตั้งแต่ในช่วงปี 2018 นอกจากนี้ การดึงแรงงานและนักลงทุนต่างประเทศเพื่อเข้ามาจัดการโครงสร้างพื้นฐานยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทุกหนทุกแห่งของกาตาร์ได้จัดเตรียมความพร้อมในทุกมิติ รวมถึงหนังสือพิมพ์ Hürriyet Daily News ของประเทศตุรกีได้ออกมาแสดงความกังวลต่อค้าจ้างของแรงงานที่ไปทำงานในกาตาร์ด้วย (Hürriyet Daily News, 2565 หน้า 8)

ประเทศกาตาร์ยังเน้นเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการคาร์บอน การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ทำให้การจัดการก่อสร้างและกระบวนการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นกาตาร์ได้พัฒนาพื้นที่สีเขียวด้วยการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่บริเวณรอบ ๆ สนามกีฬาและสถานที่ฝึกซ้อม ซึ่งจะมีการใช้ระบบน้ำหมุนเวียน เพื่อจัดทำเรือนเพาะชำผลิตต้นไม้นานาพันธุ์ได้หลากหลายมากขึ้น (FIFA Qatar World Cup 2022, 2022)

มหกรรมฟุตบอลโลกปี 2022 กาตาร์ได้เน้นกลยุทธ์การสร้างความยั่งยืนต่อการพัฒนาสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วยภายใต้กรอบการพัฒนา (Qatar National vision, 2008) ด้วยเหตุนี้การจัดมหกรรมฟุตบอลโลกจึงเป็นเส้นทางการพัฒนาประเทศของกาตาร์ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเชื่อมโยงเป้าหมายของชาติกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เช่นเดียวกันกับการวางแผนการก่อสร้างสนามฟุตบอลและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางและนักท่องเที่ยวที่ยังสะท้อนให้เห็นถึงนวัตกรรมการก่อสร้าง พลิกโฉมจากพื้นที่ทะเลทรายให้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวปรับอากาศ มีศูนย์การค้าปรับอากาศ มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ อีกทั้งยังจัดโซนให้สำหรับผู้ที่ประสงค์ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอร์ไว้ด้วย ส่งผลให้เกิดการตอบรับที่ดีทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประเทศกาตาร์ได้คาดการณ์ว่าในปี 2022 จะมีนักท่องเที่ยวมาเยื่อนกว่า 1.2-1.5 ล้านคน (Simone Foxman and Netty Idayu Ismail, 2022)

 วิสัยทัศน์ 2030 กับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจัดฟุตบอลโลก

วิสัยทัศน์ 2030 ของกาตาร์มุ่งสู่การท้าทายใหม่ ซึ่งต้องการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ กาตาร์ต้องสร้างภาพลักษณ์ประเทศด้วยการใช้การกีฬานำเพื่อเปิดลู่ทางการเติบโตทางธุรกิจและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การจัดมหกรรมฟุตบอลโลกของกาตาร์ จึงไม่ใช่เป็นแค่เกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศ แต่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงการสร้างมูลค้าเพิ่มทางธุรกิจที่ต่อยอดจากการจัดมหกรรมฟุตบอลโลก

ที่สำคัญ วิสัยทัศน์ 2030 ของกาตาร์เป็นตัวขับเคลื่อนที่ทั้งเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งตามที่สมาคมนักธุรกิจกาตาร์ ชีคไฟซอล บิน กาซิม อัล ธานี่ (Sheikh Faisal bin Qassim Al Thani) ได้เน้นย้ำว่ากาตาร์มีการดำเนินที่สอดคล้องกับแนวทางของวิสัยทัศน์ 2030 ที่จะมุ่งเน้นความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ผลจากการศึกษาของนโยบายสู่การผลักดันฟุตบอลโลกสะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากกลุ่มนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือน และการสร้างความประทับใจในการต้อนรับของกาตาร์ และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งส่งผลต่อตัวเลขการท่องเที่ยวในอนาคตมีแนวโน้มดีขึ้น แน่นอนว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของกาตาร์ การสร้างเศรษฐกิจที่ทรงพลังและมีความยืดหยุ่น การกระจายไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เน้นการธุรกิจบริการระดับมืออาชีพ การพักผ่อน และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งแนวโน้มหลังจากฟุตบอลโลกจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอีกเป็นจำนวนมากโดยมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับหรูหราใน The Pearl Qatar เกาะหรูหราที่ถูกสร้างขึ้นจากการถมทะเลโดยออกแบบผังเป็นรูปคล้ายไข่มุก ตั้งอยู่ชายฝั่งแถบ West Bay ของเมืองโดฮา มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยตั้งแต่วิลล่าหรูส่วนตัว อพาร์ทเมนต์สูงรายล้อมเกาะ โรงแรมระดับ 5 ดาว รวมทั้งร้านอาหารและแหล่งช้อปปิ้งมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่มีนักท่องเที่ยวระดับสูงจำนวนไม่น้อยนิยมมาเดินเล่นชมวิวทะเล ถ่ายภาพสวย ๆ ท่ามกลางสายลมและบรรยากาศที่เหมาะกับการพักผ่อนสบายๆ นอกจากนี้ที่นี่ยังใช้เป็นสถานที่จอดเรือยอร์ชสุดหรูได้กว่า 700 ลำด้วย (Kittiya K, 2018)

 picture

 Source: https://www.yingpook.com/blogs/world/10-best-of-qatar

เมื่อกาตาร์เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ส่งผลให้กลุ่มนักธุรกิจต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น และเพิ่มจำนวนสถานที่จัดงานฟุตบอลโลกสำหรับแฟนบอลที่มีฐานะร่ำรวยได้สัมผัสถึงบรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ ฟุตบอลโลกในครั้งนี้มีความพิเศษ 5 ด้าน (thedailystar journal, 2022) ดังนี้

1. เป็นการจัดฟุตบอลโลกฤดูหนาวครั้งแรก : การแข่งขันในปี 2022 จะเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกฤดูหนาวครั้งแรก หากพิจารณาจากซีกโลกเหนือ ฟุตบอลโลกมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี แต่เมื่อถึงกาตาร์เป็นเจ้าภาพ ข้อยกเว้นดังกล่าวก็ต้องถูกยกเลิกไป กาตาร์ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปกติมีอุณหภูมิที่สูงถึง 50 องศาเซลเซียส ในเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้นการจัดงานระดับโลกใด ๆ ก็ตามจะถือว่าเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นฟีฟ่าจึงยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าว

2. ได้สัมผัสถึงการก่อสร้างสนามฟุตบอลที่แพงที่สุดในโลก : งบประมาณที่ใช้จ่ายในการเตรียมจัดฟุตบอลโลกนั้นสูงถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ใช้งบลงทุนไปกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานก่อสร้างสนามกีฬา ทางหลวง โรงแรม และจะทำให้การจัดฟุตบอลโลกครั้งนี้แพงที่สุดในประวัติศาสตร์

3. สนามกีฬาที่น้อยที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการจัดฟุตบอลโลก : จำนวนสนามฟุตบอลมีเพียงแค่ 8 สนามเท่านั้น โดยมีสนามเดียวเท่านั้นที่ปรับปรุงให้เข้ากับเกณฑ์มาตรฐานของฟุตบอลโลก (สนามเปิดมีความจุ 80,000 ที่นั่ง และสนามแข่งขันทั่วไปมีความจุ 40,000 ที่นั่ง) นอกจากนั้นอีก 7 สนามต้องสร้างใหม่ทั้งหมด

4. การเดินทางระหว่างสนามใกล้ที่สุด : กาตาร์เป็นประเทศเล็ก ๆ มีพื้นที่เพียงแค่ 11 ตารางกิโลเมตร และมีประชาชนประมาณ 3 ล้านคน จึงทำให้การจัดการเรื่องเดินทางเป็นเรื่องไม่ยุ่งยากมากนัก เช่น การเดินทางระหว่างเมือง Doha, Lusail, Al Wakrah และ Al Rayyan ตั้งอยู่ใกล้กัน การเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับแฟนบอล

5. สนามกีฬาปรับอากาศทั้งหมด : แฟนบอลจะได้สัมผัสสนามกีฬา ซึ่งคลายกับกีฬาในร่วมที่ใช้เครื่องปรับอากาศสร้างอุณภูมิให้เหมาะสมสำหรับการแข่งขัน เนื่องจากประเทศกาตาร์เป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนมาก เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กาตาร์ได้เสนอวิธีแก้ปัญหา โดยจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีเครื่องปรับอากาศทั้ง 8 สนาม

นอกเหนือจากการสร้างสนามกีฬาฟุตบอลโลกแล้ว กาตาร์ยังลงทุนอย่างต่อเนื่องในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของกาตาร์ กาตาร์จึงวางตำแหน่งประเทศเป็นประเทศเกตเวย์ระดับโลก (World Gateway) และเป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศที่สำคัญระหว่างตะวันออกและตะวันตก การพัฒนาสนามบิน ตลอดจนเครือข่ายมหานครที่กว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งการสร้างถนนที่ได้รับการปรับปรุงและเมืองเกิดใหม่จะให้บริการแก่ประเทศได้ดีในอนาคต ทั้งในแง่ของการดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ และผู้มาเยือนใหม่

ด้วยเหตุนี้ การจัดมหกรรมฟุตบอลโลกปี 2022 จึงเป็นงานระดับโลกที่ทุกประเทศจะจับตามองไปยังกาตาร์ และมีผู้ร่วมรับชมการถ่ายทอดสดกว่าพันล้านคนทั่วโลก กาตาร์จึงมีแนวโน้มสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศที่มีลักษณะเฉพาะตามแบบฉบับของชาวอาหรับ และกาตาร์จะไม่เพียงแต่สร้างแรงกระตุ้นทางการเงินสำหรับประเทศในแง่ของจีดีพี (GDP) เท่านั้น แต่ยังจะทำให้ประเทศได้รับการยอมรับด้านการกีฬาและการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน

บทสรุป 

การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์เพื่อจัดมหกรรมฟุตบอลโลก จึงมีนัยทางเศรษฐกิจ การใช้การกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว และมุ่งเป้าต่อการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของการจัดวางวิสัยทัศน์ 2030 ของกาตาร์ ในขณะที่กาตาร์คาดการณ์ว่าจะมีการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะสร้างงานใหม่ถึง 1.5 ล้านตำแหน่งที่สร้างขึ้นในการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการบริการ แต่บทสรุปของผลที่คาดว่าจะได้รับอาจยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน กาตาร์ต้องเผชิญกับความท้าทายหลังจากนี้ ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการ การควบคุมแรงงาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศ การเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางการลงทุน การเชื่อมทางการค้า การลงทุน เป็นแหล่งรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูง และเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระยะยาว ใช้ความโดดเด่นทางอารยธรรมผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้น การจัดมหกรรมฟุตบอลโลก 2022 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในมิติการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยมีวิสัยทัศน์ 2030 เป็นตัวกำหนดทิศทางประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศ และการพัฒนาศักยภาพคนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในกาตาร์นั้นอาจมีข้อกังวลจากการปะทะทางความคิดระหว่างวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมกับบริบทของประเทศในยุคใหม่ ซึ่งแม้ว่ารูปแบบการพัฒนาประเทศที่ทันสมัยจะส่งผลต่อแรงกดดันในด้านการแข่งขันก็ตาม แต่การเข้ามาของนักธุรกิจต่างประเทศอาจนำมาซึ่งจริยธรรมที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของประเทศโดยเฉพาะหลักการของศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมอาหรับ ด้วยเหตุนี้เมื่อเสรีภาพเปิดกว้างขึ้น ย่อมมาพร้อมกับความท้าทายต่อการรักษาคุณค่าทางสังคม และหลักการของศาสนาอิสลามที่มีข้อบังคับต่างจากการเปิดเสรีแบบกลุ่มประเทศตะวันตก

บรรณานุกรม

 Anshool Deshmukh. (2021). Which Countries Have the World’s Largest Proven Oil Reserves? Retrieved from https://www.visualcapitalist.com/ranking-the-countries-with-the-largest-proven-global-oil-reserves-in-the-world/


FIFA Qatar World Cup 2022. (2022). Sustainability has been at the heart of the FIFA World Cup Qatar 2022™ from the very start. Retrieved from https://www.qatar2022.qa/en/sustainability


Henrik Christiansen. (2022). “The FIFA World Cup - an economic boom that will continue to 2030 and beyond.” Retrieved from https://thepeninsulaqatar.com/opinion/17/07/2022/the-fifa-world-cup-an-economic-boom-that-will-continue-to-2030-and-beyond


Jamie Jackson. (2010) https://www.theguardian.com/football/2010/dec/02/qatar-win-2022-world-cup-bid


Kittiya K. (2018). 7 ที่เที่ยว “กาตาร์” ว่าที่เจ้าภาพบอลโลก 2022 ที่ไปแล้ว..ห้ามพลาด. Retrieved from https://www.drivemate.asia/blog/7ที่เที่ยวกาตาร์-ว่าท


LIAM KILLINGSTAD. (2022). The Most Expensive World Cup in History. Retrieved from https://frontofficesports.com/the-most-expensive-world-cup-in-history/


Qatar National vision 2008. (2008) General Secretariat for Development Planning
Simone Foxman and Netty Idayu Ismail. (2022). Football World Cup to Add Up to $17 Billion to Qatari Economy Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-22/soccer-world-cup-to-add-up-to-17-billion-to-qatari-economy


thedailystar journal. (2022). Get hold of FIFA World Cup tickets and a lot more. Retrieved from https://www.thedailystar.net/sports/sports-special/fifa-world-cup-2022/news/get-hold-fifa-world-cup-tickets-and-lot-more-2997826


Weed, Mike. (2005). Sports Tourism Theory and Method—Concepts, Issues and Epistemologies. European Sport Management Quarterly - EUR SPORT MANAG Q. 5. 229-242. 10.1080/16184740500190587.


World Bank. (2022). Qatar GDP Growth Rate 2001-2022. Retrieved from 'https://www.macrotrends.net/countries/QAT/qatar/gdp-growth-rate'>Qatar GDP Growth Rate 2001-2022</a>. www.macrotrends.net.


Worldometers. (2021). Natural Gas Reserves by Country. Retrieved from https://www.worldometers.info/gas/gas-reserves-by-country/2020


กระทรวงการต่างประเทศ (2022). รัฐกาตาร์ (Qatar) Retrieved from https://www.mfa.go.th/th/country/QA?page=5d5bcb3915e39c3060006816&menu=5d5bd3c715e39c306002a882
หนังสือพิมพ์ Hürriyet Daily News วันที่ พฤศจิกายน 2565 หน้า 8

 

asdfasfdasdf asdfasfasdfasdfdddfasd
asfasdf asdfasdfaaaadffff

 

 

 

 

โทร : 02-970-5820
  Fackbook