ฟอเร็กซ์ ในข้อตัดสินตามหลักการอิสลาม

ฟอเร็กซ์ ในข้อตัดสินตามหลักการอิสลามฟอเร็กซ์ ในข้อตัดสินตามหลักการอิสลาม

Forex in the Rulings of Islamic principles

สมีธ อีซอ วลีด อีซอ

Smeet E-sore, Waleed Easor

วารสารมหาวิทยาลัยเกริก Proceeding การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2565

ครั้งที่ 18 กระบวนทัศน์ใหม่การวิจัยไทย-จีน-ซาอุดิ อาระเบีย วันที่ 17 ธันวาคม 2565

บทคัดย่อ

ฟอเร็กซ์ (Forex) คือ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange) โดยเป็นการลงทุนในการจับคู่เงิน 2 สกุล และทำการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของอัตราการแลกเปลี่ยนของเงินทั้ง 2 สกุลนั้น ฟอเร็กซ์ เป็นปัญหาร่วมสมัยในเรื่องการเงินอิสลามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาว่า ฟอเร็กซ์ (Forex) ถูกต้องตามบทบัญญัติอิสลามหรือไม่โดยใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าจากคำตัดสินของนักวิชาการ จากผลการศึกษา ฟอเร็กซ์ ยังมีธุรกรรมที่เป็นข้อห้ามหลายข้อที่ขัดต่อบทบัญญัติอิสลาม เนื่องจากบทบัญญัติอิสลามมีข้ออนุมัติและข้อห้ามที่เป็นลักษณะเฉพาะในธุรกรรมการเงิน ถึงแม้ปัจจุบันจะมีฟอเร็กซ์อิสลาม ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดในเรื่องนี้ เพราะเนื่องจากฟอเร็กซ์มีหลายข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติอิสลาม  

คำสำคัญ:  ฟอเร็กซ์; การเงินอิสลาม; เศรษฐศาสตร์อิสลาม

Abstract

Forex is the foreign exchange of two currencies through investment and the prediction of the changing exchange rate. Currently, Forex is a contemporary issue in Islamic finance. Therefore, to study that, Is forex compatible with Islamic principles? The findings of the study show that there are many prohibitions that still conflict with Islamic principles. Due to Islamic principles, there are permissible and prohibited acts, which are specific to financial transactions. Even though “Islamic Forex” is taking place nowadays, the study in detail is still significant to study in Islamic Forex due to the Forex has many prohibitions related to Islamic principles.

Keyword Forex; Islamic Finance; Islamic Economics.

ประวัติความเป็นมา

ฟอเร็กซ์ (Forex) คือ ตลาดเงินตราต่างประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก การซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ทำโดยธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์แบงก์ โดยธนาคารใหญ่ ๆ ของแต่ละประเทศเท่านั้น ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 คือในปี ค.ศ.1990 ได้มีการเทรดสกุลเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านบริษัทโบรกเกอร์ที่มีแพลตฟอร์มเทรดแบบออนไลน์ และก็เป็นแบบเรียลไทม์ จึงทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้โดยตรง แต่คำสั่งการซื้อขายยังคงทำผ่านโบรกเกอร์ อย่างเช่นส่งคำสั่งซื้อ-ขายผ่านระบบข้อความในมือถือไปยังพนักงานของบริษัทโบรกเกอร์ ต่อมาปี ค.ศ.1994 เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย มีการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงกันไปทั่วโลก ทางบริษัทของโบรกเกอร์ จึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงการให้บริการในรูปแบบใหม่ขึ้น โดยนำเอาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาใช้ เปิดเป็นเว็บไซต์ให้บริการ ซึ่งลูกค้าสามารถวางคำสั่งชื้อ-ขายได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ที่กำลังออนไลน์อยู่. (Forexinthai, 2019) 

ฟอเร็กซ์ (Forex หรือในภาษาอาหรับ فوركس) คือ เครื่องมือการลงทุนชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ด้วยความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินที่จับคู่กัน และการใช้อัตราทด (Leverage) เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้สามารถทำกำไรได้เป็นจำนวนมาก และในกรณีขาดทุนก็จะขาดทุนเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ฟอเร็กซ์ สามารถลงทุนได้ทั้งขาขึ้นและขาลงซึ่งมีความแตกต่างกับหุ้นซึ่ง จะลงทุนในขาขึ้นได้อย่างเดียว อย่างไรก็ตามเกิดคำถามขึ้นสำหรับมุสลิม (ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม) ทำให้สังคมมุสลิมมีความต้องการคำตอบว่า สามารถลงทุนในฟอเร็กซ์ได้หรือไม่ เนื่องจากหลักการอิสลามมีบทบัญญัติเฉพาะทั้งในเรื่องการห้ามลงทุนในธุรกรรมต่าง ๆ เช่น ในเรื่องดอกเบี้ย ความคลุมเครือ การพนัน และการลงทุนในสิ่งต้องห้าม เช่น สุรา สุกร และสิ่งที่เป็นสิ่งสกปรกตามบทบัญญัติอิสลาม เป็นต้น

FOREX ย่อมาจาก Foreign Exchange Market ตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน คือ การซื้อสกุลเงินหนึ่ง และทำการขายอีกสกุลเงินหนึ่ง (การแลกเปลี่ยน) ดังนั้น จะต้องมีการจับคู่กันของ 2 สกุลเงินเสมอ ซึ่งเรียกว่า คู่เงิน ยกตัวอย่างเช่น 

• EUR/USD คู่เงินยูโร และดอลลาร์สหรัฐ

• USD/JPY คู่เงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินเยน

• GBP/USD คู่เงินปอนด์ และดอลลาร์สหรัฐ การซื้อขายฟอเร็กซ์นั้น คือ การลงทุนในสกุลเงินต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ ซึ่งใช้การเทรดผ่านบัญชีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการลงทุนสามารถผ่านโบรกเกอร์ หรือสถาบันการเงินอื่น  ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการส่งคำสั่งซื้อ-ขายเข้าไปสู่ศูนย์กลางตลาดฟอเร็กซ์ (FOREXNEW, 2018-2019)ตัวอย่าง
 

การลงทุนซื้อเงิน EUR/USD คู่สกุลเงินยูโรและสกุลดอลลาร์ ที่ราคา 1.38510 นั่นหมายถึง 1 ยูโร แลกได้ 1.38510 ดอลลาร์สหรัฐ (ใช้สกุลแรกเป็นหลัก และนับหน่วยเป็น 1) หลังจากซื้อมาแล้วราคาดังกล่าวมีการขยับขึ้นในราคาตลาด เช่น  1.38520 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นราคามา 0.00010  และถ้าหากมีการได้ขายออกไป ผู้ลงทุนก็จะได้กำไร ในกรณีกลับกันถ้าอัตราแลกเปลี่ยนปรับราคาลง ก็จะเกิดการขาดทุน 

ฟอเร็กซ์ลงทุนได้ทั้งขาขึ้นและขาลง

การลงทุนในหุ้นโดยทั่วไป จะมีการลงทุนในขาขึ้น กล่าวคือ ถ้าหากหุ้นราคาสูงขึ้น ยิ่งสูงยิ่งได้กำไร แต่ฟอเร็กซ์ สามารถลงทุนได้ทั้งขาขึ้นและขาลง เนื่องจากมีการจับคู่กันของ 2 สกุลเงิน ดังนั้น ถ้าหากเลือกลงทุนแบบ Buy หลักการก็จะเหมือนกับหุ้นทั่วไป ยิ่งราคาสกุลเงินในตำแหน่งที่ 2 สูงขึ้น จากตัวอย่างเดิม คือ ดอลล่าร์สหรัฐเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ได้กำไร ในกรณีกลับกันถ้าราคาลดลงยิ่งทำให้ขาดทุน 

แต่ถ้าหากเลือกลงทุนแบบ Sell ในทางกลับกัน ถ้าราคายิ่งลดลง (ราคาสกุลเงินในตำแหน่งที่ 2 จากตัวอย่างคือ ดอลล่าร์สหรัฐลดลง) ผู้ลงทุนยิ่งจะได้กำไรมากขึ้น แต่ถ้าหากราคาเพิ่มขึ้นผู้ลงทุนขาดทุนมากขึ้น  ดังนั้น

ก่อนที่จะมีการลงทุนผู้ลงทุนต้องเลือกก่อน (เปิดออเดอร์) ว่าจะลงทุนในรูปแบบ Buy หรือ Sell ก่อนที่จะมาลงทุนในฟอเร็กซ์ (Forex) สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ จำเป็นต้องมีการเปิดบัญชี ผ่านโบรกเกอร์หรือสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นบัญชีเหล่านั้นจะมีการใช้อัตราทด (Leverage) และมาร์จิ้น (Margin) เข้ามาเกี่ยวข้อง

อัตราทด (Leverage หรือในภาษาอาหรับ اَلرَّافِعَة الْمَالِيَّة)

Leverage คือ "อัตราทด" หมายถึงการใช้เงินน้อยกว่าเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวในการลงทุน เช่น อัตราทด Leverage 1:100 

ตัวอย่าง 

เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง โดยมีอัตรา Leverage ที่ 1:100 นั่นหมายถึง ผู้ลงทุน สามารถใช้เงินในบัญชีซื้อหุ้นที่มีราคาใหญ่กว่าเดิมได้ 100 เท่า ถ้าหากมีเงิน 1,000 USD 1,000 x 100 = 100,000 USD กล่าวคือ ผู้ลงทุนมีเงินเพียง 1% และโบรกเกอร์ให้กู้ยืม 99 % สำหรับการใช้อัตราทด ทำให้มีเงินลงทุนมากขึ้น และสามารถทำกำไรได้มากขึ้นหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตามในกรณีขาดทุนก็จะขาดทุนหลายเท่าตัว (ล้างพอรต์) ดังนั้น การให้อัตราทด (Leverage) ก็คือ การที่โบรกเกอร์ให้ผู้ลงทุนกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย

มาร์จิ้น (Margin หรือในภาษาอาหรับ اَلْهَامِش)

มาร์จิ้น (Margin) คือ จำนวนเงินที่ต้องมีในบัญชีของผู้ลงทุนเพื่อเปิดและรักษาการซื้อขาย กล่าวคือ เงินหลักประกันที่อยู่ในบัญชีที่ถูกหักไว้เมื่อเปิด Order (สั่งซื้อหรือขาย) และจะคืนให้เมื่อปิด Order ในส่วนของ Margin จะเกี่ยวข้องกันกับ ค่า Leverage ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้ 1. ถ้าหากใช้อัตราทด (Leverage) 1:1  ถ้าต้องการเปิด Order 1 Lot ซึ่งมีมูลค่า 100,000 USD  เป็นเงินหลักประกัน (Margin) ดังนั้น ผู้ลงทุนจะเป็นจะต้องมีเงิน 100,000  USD2. แต่ถ้าหากอัตราทดใช้ (Leverage) ที่ 1:100  จะทำให้เงินหลักประกัน (Margin) จะลดลง 100 เท่า จากที่ต้องวางเงินหลักประกัน  100,000 USD  ก็จะเหลือเพียง 1,000 USD เท่านั้น ดังนั้น เงินหลักประกัน (Margin) คือ 1,000 USD ซึ่งอยู่ในบัญชี (Forex in thai, 2021)

ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเมื่อมีการเทรดข้ามคืน (SWAP หรือในภาษาอาหรับ فَوَائِدُ التَّبْيِيْتِ)

  การเปิดออเดอร์ในการจะซื้อหรือขายจะมีกำหนดเวลาในการเปิดและปิด แต่ถ้าหากเปิดเอาไว้ตลอดเวลาจนข้ามคืน ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม นั่นก็คือ Swap (สวอป) เงินค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเมื่อมีการเทรดข้ามคืน คือ ค่าผลต่างของอัตราดอกเบี้ย (Overnight Interest) ตามคู่เงินที่มีการเทรด โดยค่า Swap มีทั้งแบบ Debit หรือ Credit จะมีค่าทั้ง บวก (+) และ ลบ (-) ดังนั้น Swap ก็คือ ดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้หรือเสียไปให้กับโบรคเกอร์ เมื่อทำการเปิดออเดอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน หากไม่ต้องการให้มีค่า Swap ที่เป็นลบเกิดขึ้น จะต้องระวังในการเปิดออเดอร์ข้ามคืน โดยเฉพาะการเปิดออเดอร์ที่มีจำนวนหลาย ๆ สัญญา เป็นต้น หรือหลีกเลี่ยงโบรกเกอร์ที่คิดค่า Swap ชนิดเป็นลบแบบสูง ๆ (Forex thai, 2021) 

 

ข้อสรุป

การลงทุนในเฟอเร็กซ์ คือ การเปิดบัญชีผ่านโบรกเกอร์เพื่อลงทุนในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 สกุลเงิน โดยใช้เงินทุนที่ได้รับอัตราทดเพิ่มมากขึ้นกว่าทุนที่มี่อยู่ (การให้ยืมจากโบรกเกอร์) ฟอเร็กซ์สามารถลงทุนได้ทั้งในขาขึ้นและขาลง เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดกำไรหลายเท่าตัวหรือขาดทุนหลายตัว สำหรับโบรกเกอร์จะได้ค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียมตอบแทนตามอัตราส่วนที่ผู้ลงทุนมีการซื้อขาย

สรุปธุรกรรมต่าง ๆ ในการลงทุนในฟอเร็กซ์ (Forex فوركس)

ก่อนที่จะพิจารณาว่า การลงทุนในฟอเร็กซ์ ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามหรือไม่ จำเป็นจะต้องสรุปธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการลงทุนในฟอเร็กซ์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. การซื้อ-ขาย โดยมุ่งหวังกำไร (การเทรดดิ้ง) ส่วนใหญ่จะอยู่ในการซื้อ-ขายเงินตราสกุลหลัก (หลักการแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่าง ๆ الصرف) ในกรณีฟอเร็กซ์ คือ การแลกเปลี่ยนของ 2 สกุลเงินที่จับคู่กัน  
2. การกู้ยืม คือ จำนวนเงินที่โบรกเกอร์ให้ยืมแก่ลูกค้าโดยตรง บางทีอาจเป็นธนาคาร หรืออาจเป็นสถาบันการเงินอื่น ๆ กล่าวคือ การให้อัตราทด (leverage) จากโบรกเกอร์ให้กับผู้ลงทุนนั่นเอง เช่น ในอัตราส่วน 1:100
3. ดอกเบี้ย จะเกิดขึ้นในเรื่องของ SWAP رَسُوْمُ التَّبْيِيْتِ)   หรือ(فَوَائِدُ التَّبْيِيْتِ   หมายถึง ดอกเบี้ยที่จะได้หรือเสียไปให้กับโบรกเกอร์ เมื่อทำการเปิดออเดอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน โดยที่ไม่ได้มีการซื้อขาย บางแห่งอาจกำหนดเป็นจำนวนร้อยละ หรือเป็นจำนวนอื่น ๆ 
4. ค่านายหน้า หรือ ค่าธรรมเนียม คือ จำนวนเงินที่โบรกเกอร์ได้รับ เป็นผลมาจากการเทรดของผู้ลงทุน ตามอัตราส่วนที่สอดคล้องมูลค่าการซื้อและการขาย
5. การจำนำหลักทรัพย์ (การค้ำประกัน) เป็นข้อผูกมัด โดยผู้ลงทุนเป็นผู้ค้ำ ซึ่งใช้หลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขายอยู่นำมาค้ำประกัน ถูกกำหนดให้เป็นการค้ำประกันให้กับเงินกู้ยืมของโบรกเกอร์ด้วย จึงทำให้โบรกเกอร์มีสิทธิในการขายหลักทรัพย์นี้ และนำมาชำระหนี้ในกรณีที่ผู้ลงทุนขาดทุนในอัตราส่วนที่ถูกกำหนดเอาไว้จากบัญชี (Islamic question and answer, 2008)


ข้อตัดสินตามหลักการอิสลามในการลงทุนฟอเร็กซ์ (Forex (فوركس 

1. SWAP (สวอป)

SWAP เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย (ริบา) อย่างชัดเจน เป็นผลมาจากเงินจำนวนหนึ่งที่เพิ่มเกินมาจากจำนวนเงินที่กู้ยืมไป ซึ่งถูกเรียกว่า SWAP (  (رَسُوْمُ التَّبْيِيْتِ أَوْ فَوَائِدُ التَّبْيِيْتِโดยค่า Swap มีทั้งแบบ Debit และ Credit คือ มีค่าทั้งบวก และค่าลบ สำหรับค่า Swap เมื่อเป็นบวกหมายความว่าจะได้กำไรขณะเปิดออเดอร์ทิ้งไว้ข้ามคืน ถ้าเป็นลบก็จะหมายความว่าจะขาดทุน ดังนั้น จึงถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็น ริบา (ดอกเบี้ย) ที่ต้องห้าม จากตัวบทหลักฐานที่ระบุถึงการบริโภคดอกเบี้ยนั้น คือการประกาศสงครามต่อพระเจ้าและศาสนาทูตของพระองค์

คัมภีร์อัล-กุรอาน

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَذَرُوا مَا بَقِيَ مِنَ الرِّبَا إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ * فَإِنْ لَمْ تَفْعَلُوا فَأْذَنُوا بِحَرْبٍ مِنَ اللَّهِ وَرَسُولِهِ وَإِنْ تُبْتُمْ فَلَكُمْ رُؤُوسُ أَمْوَالِكُمْ لَا تَظْلِمُونَ وَلَا تُظْلَمُونَ  (البقرة: 279-278)-

ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮ์ ซ.บ. เถิด และจงละเว้นดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่เสีย หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตาม ก็พึงรู้ถึงสงครามจากอัลลอฮ์ ซ.บ. และศาสนทูตของพระองค์ (หมายถึง อัลลอฮ์ ซ.บ และศาสนทูตประกาศเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย) และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้ว สำหรับพวกเจ้าก็คือ ต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรมและไม่ถูกอธรรม”   (อัลบะก้อเราะฮฺ 278-279)

2. การรวมกันอยู่ของ 2 สัญญา

การลงทุนในฟอเร็กซ์ ทำให้เกิดการรวมกันของ 2 สัญญา

หนึ่ง คือ สัญญาของการให้จากฝ่ายเดียว (ไม่มีผลตอบแทน) เช่น การให้กู้ยืม 

สอง คือ สัญญาต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยน เช่น ค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้า (เป็นการตอบแทนผลประโยชน์) กล่าวคือ การที่โบรกเกอร์จะให้กู้ยืม พร้อมกับโบรกเกอร์จะได้รับค่าธรรมเนียมตอบแทน 

ซึ่งการรวมกันระหว่าง 2 สัญญา (การให้กู้ยืม+ค่านายหน้า) ซึ่งอยู่ในสัญญาเดียวกันเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม  ดังที่ท่านร่อซู้ล ซ.ล. กล่าวว่า

لَا يَحِلُّ سَلَفٌ وَبَيْعٌ ، وَلَا شَرْطَانِ فِي بَيْعٍ ، وَلَا رِبْحُ مَا لَمْ تَضْمَنْ ، وَلَا بَيْعُ مَا لَيْسَ عِنْدَكَ

ไม่อนุญาตการกู้ยืมเงิน (سَلَفٌ)  อยู่พร้อมกับการขาย ( بَيْع) (รวมอยู่ในธุรกรรมเดียว) และไม่มี 2 เงื่อนไขอยู่ในการขายเดียว ไม่มีกำไรในสิ่งที่ยังไม่ได้รับประกัน (ยังไม่ได้รับสิ่งที่จะนำไปขาย) ไม่มีการขายในสิ่งที่ยังไม่มีอยู่กับท่านความหมายจากหะดีษ คือ การไม่อนุญาตการขายพร้อมกับตั้งเงื่อนไขการกู้ยืม เช่น คำพูดที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะขายผ้าผืนนี้ 10 บาท ให้กับท่าน โดยที่ท่านจะต้องให้ฉันยืม 10 บาท”  ดังนั้น การขายโดยมีเงื่อนไขกู้ยืม จึงเป็นสัญญาที่โมฆะ เพราะมีสัญญาซื้อขายและสัญญาการยืมร่วมอยู่ด้วยกัน ท่านรอซู้ล ซ.ล. ทรงห้ามเอาไว้ในคำพูดดังกล่าว และสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า การวมกันของ 2 สัญญา ส่งผลให้การกู้ยืมเงิน มีผลประโยชน์ตอบแทน ในตัวอย่างที่ผ่านมา ผลประโยชน์ตอบแทน คือ “ผู้หนึ่งจะขายของให้ ถ้าหากมีการยืม ดังนั้น ถ้าหากไม่ให้กู้ยืมเงินก็จะไม่ขายของให้” ดังนั้น การกู้ยืมที่มีผลประโยชน์ตอบแทน จะถือว่า ผลตอบแทนนั้น เป็นดอกเบี้ย (ริบา) ไปด้วย ซึ่งนักวิชาการนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นพ้องในเรื่องนี้ ท่านรอซู้ล ซ.ล. กล่าวเอาไว้ว่า


كلُ قـَرْضٍ جَرَّ نَفْعًا فَهُوَ رِبَا

การยืมที่มีผลประโยชน์ตอบแทน สิ่งนั้น คือ ริบา (ดอกเบี้ย)

สำหรับฟอเร็กซ์ ถึงแม้โบรกเกอร์ให้กู้ยืม (leverage) โดยไม่มีกำหนดดอกเบี้ยตอบแทน อย่างไรก็ตาม แต่โบรกเกอร์กำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าหากผู้ลงทุนได้เข้ามาเปิดบัญชี โบรกเกอร์ก็จะให้ยืมเงิน (หรือ การให้อัตราทด leverage 1:100) นั่นหมายถึง เป็นการให้กู้ยืม พร้อมกับตั้งเงื่อนไขจะต้องเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ หลังจากนั้น เมื่อมีการซื้อ-ขาย (เทรดดิ้ง) ทำให้โบรกเกอร์ได้รับค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งถือว่าค่าธรรมเนียมนี้เป็นผลประโยชน์ตอบแทน จึงนำไปสู่การให้กู้ยืมโดยได้ผลตอบแทน (ซึ่งถือเป็นสิ่งต้องห้าม) (مجلس المجمع الفقهي الإسلامي برابط العالم الإسلامي,  2006)

สรุป การที่โบรกเกอร์ให้กู้ยืมเงินโดยจะได้รับค่าธรรมเนียมตามมาทีหลัง ตามหลักศาสนาถือว่าค่าธรรมเนียมเป็นผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมา เพราะตามหลักการกู้ยืมนั้น จะต้องไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม ดังนั้น การรวมของ 2 สัญญา การกู้ยืม และการได้รับผลตอบแทนจึงเป็นสิ่งต้องห้าม ดังที่อัล-หะดีษ (คำพูดขององค์ศาสดา) ได้กำหนดเอาไว้

3. เกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจ

การซื้อ-ขาย (เทรดดิ้ง) ฟอเร็กซ์ ทำให้เกิดผลร้ายต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ลงทุน รวมถึงเศรษฐกิจส่วนรวม เพราะทำให้เกิดหนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่ห์เหลี่ยม กลอุบาย การกักตุน และการผันผวนของราคา การเทรดดิ้งดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ความมั่งคั่งอย่างรวดเร็ว และยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินในสังคมที่อยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงๆ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่หลอกลวง ซึ่งไม่ส่งผลดีกับทางเศรษฐกิจ และยังมีประเด็นคนบางกลุ่มอ้างธุรกรรมระดมทุนซื้อขายฟอเร็กซ์ และปรากฏว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้ที่จะลงทุนในฟอเร็กซ์ จะต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์ให้ดี (Thai Broker Forex, 2021)   

4. การให้กู้ยืมของโบรกเกอร์ (Leverage)

การให้กู้ยืม (Leverage) ไม่มีการต่างฝ่ายต่างรับในทันที ที่เป็นการรับที่กระทำจริงๆ  (فِعْلِيُّ) หรือการรับที่เป็นด้านการตัดสิน حُكْمِيٌّ) ( ในธุรกรรมการขายสกุลเงินนี้ โบรกเกอร์เสนอเงินกู้เพื่อลงทุนซื้อเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวไม่ได้ถูกมอบส่งให้กับลูกค้า (ผู้เปิดบัญชี) หากแต่ถูกใส่เอาไว้ในบัญชีที่เปิดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีการลงทุนนำไปซื้อสกุลเงินอื่นเข้ามาในบัญชี  ดังนั้น เมื่อมีการขายเงินสกุลดังกล่าวออกไปอีกครั้ง (ได้กำไรจากการขาย และเบิกเงินออกมา) โดยเงินที่บริษัทให้ยืมมา ซึ่งเป็นเงินที่ลูกค้ายังไม่ได้ชำระใช้หนี้  ด้วยเหตุ นี้จึงเป็นการขัดแย้งต่อหลักการ เพราะไม่มีการต่างฝ่ายต่างรับทันทีในเรื่องของการแลกเปลี่ยน ตามหลักการของอิสลามจะต้องมีการส่งมอบของเงิน 2 สกุลในทันที เมื่อมีการแลกเปลี่ยนไม่สามารถแลกเปลี่ยนโดยล่าช้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดริบา (ดอกเบี้ย) ที่เรียกว่า “อันนะซาอ”

5. ไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินตราที่แท้จริง

การแลกเปลี่ยนเงินตรา 2 สกุลเงิน (اَلصَّرْفُ) เป็นสิ่งที่อนุญาตตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยมีเงือนไขว่า จะต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน และต่างฝ่ายต่างรับในทันที สำหรับลักษณะการเทรด Forex ที่แท้จริง คือ การฝากเงินเข้าโบรกเกอร์ และมีคำส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งการซื้อขายนั้นต้องเกิดขึ้นจริง หรืออีกความหมาย ถ้าหากผู้ลงทุนไม่ใช้ Leverage เลย แล้วส่งคำสั่งซื้อขาย  1 Lot (100,000) ในค่าเงิน EUR:USD ก็จะได้เงิน EURO มา 1 แสนยูโร อย่างนี้เรียกว่าซื้อขาย Forex ที่แท้จริงๆ (Islamic question and answer, 2008) 

แต่ถ้าหากว่าการซื้อขายค่าเงินโดยการเปิดบัญชี แล้วทำการใช้ หรือ ไม่ใช้ Leverage และปรากฏว่าไม่ได้ทำการเชื่อมต่อเข้ากับระบบธนาคารกลาง นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้วไม่มีการส่งเงินจำนวนนั้นเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางเลย หรืออีกความหมาย ไม่ได้มีการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน หากแต่เป็นการพนันที่เอาการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นจุดอ้างอิง สำหรับโบรกเกอร์ลักษณะนี้เหมือนกับบ่อนพนัน เป็นโบรกเกอร์ที่หลอกลวง (ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนจริงๆ) ซึ่งอย่างนี้เรียกว่าไม่ใช่การเทรดฟอเร็กซ์ (Forex) แต่เป็นการเดิมพันกับตัวเลขจุดทศนิยมที่มีการขึ้นลง ซึ่งถือว่าการพนันเดิมพันเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม

คัมภีร์อัล-กุรอาน

يَسْأَلُونَكَ عَنِ الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ قُلْ فِيهِمَا إِثْمٌ كَبِيرٌ وَمَنَافِعُ لِلنَّاسِ وَإِثْمُهُمَا أَكْبَرُ مِن نَّفْعِهِمَا وَيَسْأَلُونَكَ مَاذَا يُنفِقُونَ قُلِ الْعَفْوَ كَذَلِكَ يُبيِّنُ اللهُ لَكُمُ الآيَاتِ لَعَلَّكُمْ تَتَفَكَّرُونَ 

(البقرة:219)  

พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน และพวกเขาจะถามเจ้าว่า พวกเขาจะบริจาคสิ่งใด ? จงกล่าวเถิดว่า สิ่งที่เหลือจากการใช้จ่าย ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮ์จะทรงแจกแจงโองการทั้งหลายแก่พวกเจ้าหวังว่าพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ (อัล-บะก้อเราะห์ 219)

ถ้าหากมีการเปรียบเทียบในกรณีเดียวกัน การที่จะซื้อเงิน USD dollar  จะต้องไปที่ธนาคาร อย่างนี้ถือว่าเป็นการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง ซึ่งการซื้อขายดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจจริง ๆ อย่างนี้ถึงเรียกว่าเป็นการ Trade Forex จากประเด็นดังกล่าวมีข้อมูลมายืนยันจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้“กรณีที่ปัจจุบันมีเว็บไซต์จากต่างประเทศชักชวนให้ประชาชนลงทุนในการซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศ ในลักษณะเก็งกำไรค่าเงินนั้น จากการศึกษาของ สศค. และธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจว่า การลงทุนเพื่อ เก็งกำไรดังกล่าวไม่ได้มีการซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศโดยตรง แต่เป็นเพียงกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีแม่ข่ายอยู่ในต่างประเทศ และผลการดำเนินการจะมีการชำระบัญชีของส่วนต่างที่เป็นผลกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการดำเนินธุรกรรม ในลักษณะดังกล่าว อาจมีความเสี่ยงทั้งจากความเสียหายจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและการผิดนัดชำระเงินคืน” (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สศค.)

ข้อสรุป

ถ้าหากฟอเร็กซ์ (Forex) ไม่มีการแลกเปลี่ยนของเงิน 2 สกุลที่แท้จริง ก็จะกลายเป็นการนำเงินทุนไปฝากบัญชีเพื่อเดิมพัน โดยไปอ้างอิงกับตัวเลขอัตราการแลกเปลี่ยนที่มีการขึ้นลง ซึ่งผู้ลงทุนต้องการให้ตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนขยับไปตามที่คาดหวัง สำหรับเงินทุนเดิมพันนั้นยังคงอยู่ในบัญชี (ไม่ได้ไปลงทุนหรือแลกเปลี่ยนใดๆ) เมื่อตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนขยับและผู้ลงทุนปิดออเดอร์ก็จะมีการชำระบัญชีของส่วนต่าง จึงส่งผลให้เกิดการได้หรือการเสีย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการพนันทั่วไป  

สรุปข้อตัดสินฟอเร็กซ์ในข้อตัดสินตามหลักการของอิสลาม

ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้ามา ทำให้การลงทุนในฟอเร็กซ์ จึงเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการของอิสลาม ถึงแม้ในปัจจุบันมีบางบริษัทที่ใช้ชื่อว่าฟอเร็กซ์อิสลาม และได้อ้างว่าถูกต้องตามหลักการ ซึ่งบริษัทนั้นจะไม่มีการเรียกเก็บ SWAP ที่ถือเป็นดอกเบี้ย ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดในหัวข้อฟอเร็กซ์อิสลาม เพราะอย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้ฟอเร็กซ์เป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ SWAP อย่างเดียว หากแต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้บริษัทดังกล่าวนั้น อาจยังมีธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ 

อ้างอิง

Forex in Thai. (2019). ฟอเร็กซ์คืออะไร รู้เอาไว้จะได้ไม่ถูกโกง. (15 กุมภาพันธ์ 2565) สืบค้นจากhttps://www.forexinthai.com/41/

Forex in thai. (2021). มาร์จิ้น Margin Forex คืออะไร. (16/02/2021) สืบค้นจาก Forexinthai.com https://shorturl.asia/jFtWp. 

Forex thai. (2021) Swap คือ อะไร. สืบค้นจาก Forexthai.in.th, https://shorturl.asia/9agdN.

FOREXNEW.org. (2018-2019). หลักการลงทุน FOREX การเทรดดิ้งตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงมืออาชีพ.(16/02/2021).  สืบค้นจาก Forexnex.org https://shorturl.asia/ElfrL.

Islamic question and answer. (2008).  حكم المتاجرة في العملات بنظام الفوركس مع دفع رسوم على التبييت (16/02/2021). สืบค้นจาก Islamic question and answers. https://shorturl.asia/keYli.

Thai Broker Forex. (2021). การเทรดฟอเร็กซ์ผิดกฏหมายหรือไม่.(16/02/2021) สืบค้นจาก Thaibrokerforex.com. https://bit.ly/2 NmJxIB.

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค). คำตอบข้อร้องเรียน จากคำถามขอความอนุเคราะห์คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการเทรด forex.(16/02/2021) สืบค้นจาก www.2fpo.go.th, https://shorturl.asia/mwjLo.

ข้อมูลภาษาอาหรับ

 

علي شمالي. (2017). التداول الإلكتروني في المصارف الإسلامية. الفوركس الإسلامي. جمهورية العربية السورية: جامعة تشرين. 24-26.مجلس المجمع الفقهي الإسلامي برابط العالم الإسلامي. (2006). في الموضوع "المتاجرة باالهامش". مكة: في دورةالثامنة عشرة المنعقدة بمكة المكرمة.  

โทร : 02-970-5820
  Fackbook