การศึกษาระบบ E-Hajj ในกิจการฮัจย์ของซาอุดิอาระเบียและไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19
E-Hajj system under the management of Saudi Arabia and Thailand during Covid-19
ดร. ปริญญา ประหยัดทรัพย์
Dr. Parinya Prayadsap
วารสารมหาวิทยาลัยเกริก Proceeding การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 18
กระบวนทัศน์ใหม่การวิจัยไทย-จีน-ซาอุดิ อาระเบีย วันที่ 17 ธันวาคม 2565
บทคัดย่อ
รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ของชาวไทยมุสลิมที่นครมักกะห์และได้ส่งเสริมกิจการฮัจย์ด้วยดีตลอดมา เพื่อแสดงถึงความแน่วแน่ของรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการฮัจย์ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524 โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข หรือมาตรการใด ๆ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในอันที่จะให้ความคุ้มครองผู้ประสงค์จะเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และมีหลักประกันในการเดินทาง โดยมีกรมการปกครองทำหน้าที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย โดยสอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ ในการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องของผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ทั้งหมด เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-Hajj ของซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้การดำเนินการยื่นขอวีซ่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
บทความวิชาการนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาการดำเนินงานกิจการฮัจย์ ภายใต้การกํากับดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หลังวิกฤตโควิด-19 และวิเคราะห์ความสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงฮัจย์ซาอุดิอาระเบียในการนำระบบ E-Hajj มาใช้ โดยการนำข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกิจการฮัจย์ เรียกว่า “E-Hajj” อันเป็นสารสนเทศประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้แสวงบุญทั่วโลกที่เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ ด้วยความสะดวก ปลอดภัย และมีหลักประกันที่สมบูรณ์
ผลการศึกษามีข้อค้นพบว่า ในช่วงระหว่างวิกฤตโควิด-19 กรมการปกครองได้นำระบบการลงทะเบียนออนไลน์มาใช้บริหารจัดการกิจการฮัจย์ไทยอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานให้ทันสมัยตามแบบสากล ลดขั้นตอนการตกหล่น และสามารถพัฒนาระบบให้สอดรับกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Hajj) ของซาอุดิอาระเบีย เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการของจำนวนผู้แสวงบุญในการแสวงบุญพิธีฮัจย์ มีความชัดเจน และได้รับวีซ่าในการเดินทางตามกำหนดเวลา
คำสำคัญ : ระบบ E-Hajj, กิจการฮัจย์, วิกฤตโควิด-19, ภาวะปกติใหม่
Abstract
Thai government concern on Muslim pilgrimage to the holy city of Mecca and supporting Hajj management in order to ensure the government give full support for Hajj management. Thai government issue the law for supporting Hajj management in 1981 by set up Committee for Hajj Management in Thailand to enforce the law and order for protecting pilgrimages, provide facilities, support security, and travel insurance in which the Department of Administrative Affairs working as the secretary of the Committee for Hajj Management in Thailand, and work according to law and order of E-Hajj system of Saudi Arabia for issuing visa.
The article aims to study on Hajj Management under the Department of Administrative Affairs during Covid 19 and considering how can be apply in appropriate to the Hajj policy of Saudi Arabia by adopted E-Hajj system and collected personnel information through electronic Hajj or called “E-Hajj” this is the new technology applied in the new norm and modern in order to facilitate the Muslim pilgrimages around the globe, including support security and full insurance.
The study found that during the crisis of Covid 19 the Department of Administrative Affairs, Thailand adopted the online registration under the guidance of Hajj management, this is the key development and upgrade services which equivalence to international standard, reduce missing register, and improve the system that can apply to the E-Hajj system of Saudi Arabia. This will also be benefited on Hajj management to count the number of pilgrimages and timely received on Hajj visa.
Keyword E-Hajj system, Hajj Management, Crisis of Covid 19, New Normal
บทนำ
ฮัจย์ เป็นศาสนบัญญัติสำคัญประการหนึ่งของศาสนาอิสลามที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติในรูปแบบของหมู่คณะระดับประชาชาติ ในสถานที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งกำหนดให้มุสลิมทุกคน สำหรับผู้ที่มีความพร้อมในการเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะฮ์ ซาอุดิอาระเบีย หนึ่งครั้งในชีวิต โดยอยู่บนพื้นฐานและเงื่อนไขหลัก 3 ประการ คือ มีความพร้อมด้านทรัพย์สิน สุขภาพและมีความปลอดภัยในการเดินทาง ในฐานะอาคันตุกะของพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮ) ซึ่งจะได้รับเกียรติและการดูแลเป็นพิเศษจากทุกภาคส่วน ให้สามารถเดินทางไปประกอบศาสนกิจในพิธีฮัจย์ได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ซึ่งในแต่ละปี กระทรวงฮัจย์แห่งซาอุดิอาระเบียได้จัดสรรโควตาให้ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ จำนวน 13,000 คน และรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้กำหนดระเบียบ แนวปฏิบัติ เพื่อให้มุสลิมจากทั่วโลกเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์อย่างเป็นระบบ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้รับความสะดวกสบาย และได้ประกอบศาสนกิจสมบูรณ์ตามหลักศาสนา (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2552)
การเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ของชาวไทยมุสลิมมีมาก่อนสมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งจะร่วมเดินทางไปกับบุคคลใกล้ชิด หรือญาติที่เคยผ่านการแสวงบุญพิธีฮัจย์ หรือเคยพํานักอยู่ในซาอุดิอาระเบียมาก่อนในฐานะผู้นําทาง ซึ่งนิยมเรียกกันวา “แซะห์” ซึ่งจะทําหน้าที่ในการรวบรวมบุคคลที่มีความประสงค์จะเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ ช่วยดำเนินการทําหนังสือเดินทางและเตรียมเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนําไปมอบให้แก่ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนขออนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการรับจัดบริการขนส่งในกิจการฮัจย์ เพื่อดําเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ จนกระทั่งเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ จัดเช่าที่พักอาศัย จัดบริการอาหาร และอื่นๆ จนเสร็จสิ้นพิธีฮัจย์ และนำคณะเดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยผู้ประกอบกิจการฮัจย์ต้องทำสัญญากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮัจย์ในซาอุดิอาระเบีย มีการบันทึกและเซ็นสัญญาระหว่างทั้งสองฝ่ายในเอกสารเท่านั้น โดยไม่มีระบบออนไลน์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกิจการฮัจย์ของซาอุดิอาระเบีย (E-Hajj) ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการฮัจย์ทั้งสิ้น (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม , 2560)
เมื่อชาวไทยมุสลิมจำเป็นจะต้องเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประมาณ 13,000 คนต่อปี ค่าใช้จ่ายประมาณ 250,000 ต่อคน และมีผู้ประกอบการกิจการฮัจย์ในประเทศไทย 114 ราย จึงทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องพัฒนารูปแบบการบริหารกิจการฮัจย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว และระเบียบการบริหารกิจการฮัจย์ ภายใต้กำกับการดูแลของกระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุนี้ การจัดการทางด้านฮัจย์ จึงถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยดูแลประชาชนมุสลิมไทย เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิและการบริการจากผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานตามนโยบาย โดยส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยสอดคล้องกับการบริหารจัดการกิจการฮัจย์ของซาอุดิอาระเบียตามวิสัยทัศน์ 2030 คือวิสัยทัศน์ที่จะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ลดการพึ่งพาน้ำมันและเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2561)
ความเป็นมาของระบบ E-Hajj
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 รัฐบาลซาอุดิอาระเบียมีการปรับปรุงพัฒนากิจการฮัจย์ทุกด้าน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์จำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นซาอุดิอาระเบีย จึงได้มีการนำระบบ E-Hajj มาใช้ในการออกวีซ่า ซึ่งได้ทดลองใช้ในปี พ.ศ. 2556 โดยกำหนดให้ประเทศที่มีผู้แสวงบุญดำเนินการในบางเรื่องผ่านระบบดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนจะมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปีถัดมา
ปี พ.ศ. 2557 ซาอุดิอาระเบียได้ประกาศใช้ระบบ E-Hajj อย่างเป็นทางการ ซึ่งในช่วงแรกผู้ประกอบกิจการฮัจย์เป็นผู้จัดส่งข้อมูลผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ผ่านระบบ E-Hajj ของซาอุดิอาระเบียเอง โดยเป็นผู้สแกนหนังสือเดินทางผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ในสังกัด ด้วยด้วยสแกนหนังสือเดินทาง แทนการบันทึกข้อมูล และจัดส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ให้กับทางการซาอุดิอาระเบีย เพื่อใช้ประกอบในการออกวีซ่า (กระทรวงฮัจย์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย , 2558)
อย่างไรก็ตามระบบ E-Hajj ของซาอุดิอาระเบีย เป็นระบบใหม่ ยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดปัญหาขัดข้องในทางปฏิบัติกับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ข้อขัดข้องที่ค้นพบ อาทิ เครื่องสแกนหนังสือเดินทางไม่สามารถอ่านข้อมูลของหนังสือเดินทางผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์รุ่นเก่าที่พิมพ์ลายนิ้วมือ หรือไม่มีวันที่และเดือนเกิด เมื่อสแกนหนังสือเดินทางแล้ว ไม่มีข้อมูลปรากฏในระบบ E-Hajj สถานทูตซาอุดิอาระเบียจึงไม่สามารถออกวีซ่าได้ ผู้ประกอบกิจการฮัจย์บางรายนำส่งหนังสือเดินทางกระชั้นชิด ก่อนออกเดินทาง 1-2 วัน ให้กรมการศาสนาซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ดูแลกิจการฮัจย์อยู่ และผู้ประกอบกิจการฮัจย์บางรายบันทึกข้อมูลจำนวนผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ในระบบออนไลน์ เกินจำนวนโควตาในสังกัดของตน ทำให้ข้อมูลจำนวนและรายชื่อผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ในระบบโดยรวมไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นต้น (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม , 2559)
เมื่อเกิดข้อขัดข้องดังกล่าว กรมการศาสนาในฐานะผู้ดูแลกิจการฮัจย์อยู่ในขณะนั้น จึงรีบหาทางคลี่คลายปัญหาทันที โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ สถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ได้ขยายเวลาการปิดรับยื่นวีซ่าผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์สำหรับหนังสือเดินทางที่ตกค้าง อันเนื่องมาจากอุปกรณ์การอ่านข้อมูลของสถานทูตไม่ปรากฏข้อมูลหนังสือเดินทาง จนกระทั่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าวร่วมกับสถานทูตจนสามารถผ่านไปได้ จึงทำให้สามารถออกวีซ่าได้ (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2559)
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ชี้ให้เห็นว่า การที่ซาอุดิอาระเบียได้นำระบบ E-Hajj มาใช้ในปี พ.ศ. 2557 อย่างเป็นทางการนั้น ส่งผลให้ทุกประเทศที่มีผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ต่างเผชิญกับข้อขัดข้องในระบบออนไลน์ E-Hajj เช่นเดียวกัน ซึ่งหากมองอีกด้านหนึ่ง ปี พ.ศ. 2557 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายของการดำเนินงานกิจการฮัจย์ไทย ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนการเรียนรู้ครั้งสำคัญที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยได้นำมาปรับปรุงและวางแผนการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการขอยื่นวีซ่า
พิธีฮัจย์กับภาวะปกติใหม่หลังวิกฤตโควิด-19
ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปี พ.ศ. 2563- 2565 ส่งผลให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ต้องบังคับใช้มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด โดยจำกัดจำนวนผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์จากนอกประเทศเข้าร่วมพิธีเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 90 ปีของประวัติศาสตร์ชาติ จากปกติที่จะมีผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวมุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกไปร่วมพิธีราว 2.5 ล้านคน
มาตรการจำกัดจำนวนผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ที่เข้าร่วมแสวงบุญพิธีฮัจญ์ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 1,000 คน ในปีพ.ศ. 2564 จำนวน 100,000 คน จาก 160 ประเทศนั้น ถือเป็นความแตกต่างไปจากปีก่อนๆ มาก โดยผู้เข้าร่วมพิธีแบ่งเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย 30% และอีก 70% เป็นชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในซาอุดิอาระเบียอยู่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางการได้สั่งปิดพรมแดนจากวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น และในปี พ.ศ. 2565 ซาอุดิอาระเบีย อนุญาตให้ผู้แสวงบุญเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ได้เป็นจำนวน 1,000,000 คน โดยแบ่งเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย 20% และอีก 80% ผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์จากนอกประเทศเข้าร่วมแสวงบุญพิธีฮัจย์ นอกจากนี้ ทางการซาอุดิอาระเบีย ยังห้ามผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี หรือป่วยเป็นโรคเรื้อรังเข้าร่วมพิธีด้วยเช่นกัน (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2565)
ผลจากการที่ซาอุดิอาระเบียเปิดโอกาสให้ผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ทั่วโลก เดินทางการเข้าร่วมพิธีฮัจย์ ในปี พ.ศ. 2563 - 2565 ถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการผู้แสวงบุญภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงอย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียได้ออกประกาศจำกัดจำนวนผู้แสวงบุญ มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมดูแล ทั้งเรื่องการเดินทาง ที่พัก อาหารและการเว้นระยะห่างทางสังคมในการแสวงบุญพิธีฮัจย์ ซึ่งจากการจำกัดจำนวนแก่ผู้แสวงบุญในห้วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดผลดีในเชิงบวกกับการบริหารจัดการผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ของซาอุดิอาระเบียในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ผู้แสวงบุญปลอดภัย สามารถเดินทางมาประกอบพิธีฮัจย์ตามจำนวนที่ทางการซาอุดิอาระเบียกำหนดไว้
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติในทุกมิติ การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาดทำให้ผู้คนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในวงกว้างด้วย ที่สำคัญ วิกฤตในครั้งนี้ได้ทิ้งร่องรอยหลายอย่างไว้สำหรับโลกใหม่ บางอย่างจะเลือนหายไปกับกาลเวลา ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอีกบางอย่างจะไม่กลับมาเหมือนเดิม สิ่งดังกล่าวเรียกว่า “ภาวะปกติใหม่” ซึ่งเกิดจากปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกระแสสังคม (Megatrends) โครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการของผู้บริโภค และวัฏจักรเศรษฐกิจ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้กระแสต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นนั่นเอง วิกฤตครั้งนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จนอาจทำให้ธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถแข่งขันหรืออยู่รอดได้หากยังยึดติดกับโมเดลธุรกิจรูปแบบเดิม เพราะในภาวะปกติใหม่ที่มีสภาพการแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก กลยุทธ์ทางธุรกิจในลักษณะเดิม เช่น การทุ่มงบการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ หรือกระทั่งการลดต้นทุน อาจไม่สามารถช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้องเข้าใจบริบทของโลกใหม่เพื่อปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ในหลายกรณีธุรกิจจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในลักษณะพลิกโฉม (Transformative) เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้มีความโดดเด่นและมีภูมิคุ้มกันต่อการถูกทำลาย (Disrupt) https://www.krungsri.com/th/research , สืบค้น 02/11/2565)
การพลิกโฉมธุรกิจเพื่อเผชิญกับภาวะปกติใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 นี้มี 5 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ 1) ประเมินสภาพแวดล้อมของโลกใหม่ด้วยความเข้าใจ (Reassess) โดยต้องมองให้เห็นถึงแรงส่งของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีกำลังแตกต่างกันไป 2) ทบทวนศักยภาพของโมเดลธุรกิจ (Review) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ธุรกิจจะถูก Disrupt ในอนาคตด้วย 3) กำหนดทิศทางใหม่ของธุรกิจที่จะมุ่งไปในอนาคต (Redirect) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างโมเดลธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่ง นอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพ การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ 4) สร้างโมเดลธุรกิจใหม่อยู่เสมอ (Reinvent) โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคและการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ และ 5) ปฏิรูปโครงสร้างองค์กร กระบวนการ และวัฒนธรรมขององค์กร (Reform) เพื่อสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง สู่องค์กรที่เป็นเลิศที่มีโมเดลธุรกิจเหนือคู่แข่ง (Krungsri, 2565)
การพลิกโฉมระบบ E-Hajj หลังวิกฤตโควิด-19
จากวิกฤตโควิด-19 นี้เอง กระทรวงฮัจย์ของซาอุดิอาระเบีย ได้ให้ความตระหนักและความสำคัญ จึงได้มอบหมายให้องค์กรเอกชนทำหน้าที่ควบคุมดูแลนำข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกิจการฮัจย์ทั้งหมด เรียกว่า “E-Hajj” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 2030 อันเป็นสารสนเทศประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย เพื่อสนับสนุนให้ผู้แสวงบุญทั่วโลกเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ ด้วยความสะดวกปลอดภัย มีหลักประกัน และสมบูรณ์ตามหลักศาสนา ซึ่งการดำเนินงานตามภารกิจของกระทรวงฮัจย์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของซาอุดิอาระเบียกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์นั้น จะต้องดำเนินการผ่านช่องทางอีเล็กทรอนิกส์ทั้งสิ้น ได้แก่
1) การลงนามในบันทึกความตกลงการเตรียมการฮัจย์ ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างผู้แทนฮัจย์ของประเทศไทยกับกระทรวงฮัจย์และอุมเราะห์ของซาอุดิอาระเบีย ที่จัดทำขึ้นโดยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ต่อกัน และมีความประสงค์ที่จะบริการกิจการฮัจย์ให้กับผู้แสวงบุญเพื่อแสวงบุญพิธีฮัจย์ ภายใต้ระเบียบและกฏหมายกำหนดของซาอุดิอาระเบีย โดยสรุป ดังนี้
- ด้านภารกิจหน้าที่ มีข้อกำหนดของซาอุดิอาระเบียจัดประชุมหนึ่งครั้งก่อนช่วงเทศกาลฮัจย์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันและประชุมหารือกับฝ่ายไทย เกี่ยวกับข้อสรุป และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รวบรวมมาจากผู้แสวงบุญที่เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ในปีที่ผ่านมา และหารือแผนการปฏิบัติงานสำหรับกิจการฮัจย์ในปีถัดไป
- จำนวนผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ซาอุดิอาระเบียกำหนดโควตาผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ โดยคำนวณจากจำนวนผู้แสวงบุญ 1,000 คน ต่อจำนวนประชากรมุสลิมในประเทศ 1 ล้านคน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนที่เป็นทางการในด้านกิจการฮัจย์ โดยดำเนินการลงทะเบียนสำหรับผู้ประสงค์ที่จะเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงกับระบบ E-Hajj ของซาอุดิอาระเบีย
2) การดำเนินการจัดเช่าที่พักและการจัดบริการอาหารสำหรับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอำนวยการจัดเช่าที่พักและการจัดบริการอาหารสำหรับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ เพื่อดำเนินการจัดเช่าที่พัก จัดบริการอาหาร และสำรวจข้อมูลความเหมาะสมของอาคารที่พักของผู้แสวงบุญ โดยผ่านตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของฝ่ายไทยและซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นผู้ประกอบกิจการฮัจย์ที่เสร็จสิ้นจากจัดเช่าที่พักและการจัดบริการอาหารแล้ว จะต้องชำระค่าเช่าที่พักและค่าอาหารผ่านระบบออนไลน์ของกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการทำสัญญาเช่าที่พักและบริการอาหารในระบบออนไลน์ของซาอุดิอาระเบีย (E-Hajj) ในขั้นตอนสุดท้าย
3) การยื่นขอตรวจลงตราสำหรับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ณ สถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ส่งหนังสือเดินทางผู้ไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ให้สำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลในระบบออนไลน์ เพื่อยื่นขอตรวจลงตรา
จากความสำเร็จในการบริหารกิจการฮัจย์ของซาอุดิอาระเบียในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Hajj) มาใช้เต็มรูปแบบนั้น สามารถออกวีซ่าได้ครบตามโควตาแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยได้ตอบสนองกระทรวงฮัจย์ของซาอุดิอาระเบียในการนำระบบดังกล่าวมาใช้ ทำให้ผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ทุกคนที่ลงทะเบียนในระบบออนไลน์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รับวีซ่าครบจำนวน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ได้วางนโยบายเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการวีซ่าให้ดียิ่งขี้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางให้แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิม กรมการปกครองในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยจึงได้เตรียมความพร้อมด้านวีซ่าผู้แสวงบุญของเทศกาลฮัจย์ในทุกๆปี ตั้งแต่ต้นปี เช่นการประชุมหารือร่วมกับสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย เพื่อวางแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ สอดคล้องกับนโยบายด้านกิจการฮัจย์ของทางการซาอุดิอาระเบีย การชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการฮัจย์ พร้อมขอความร่วมมือดำเนินงานเรื่องที่เกี่ยวข้องตามกรอบเวลาของระบบออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Hajj) ของซาอุดิอาระเบีย การจัดส่งคณะอนุกรรมการ ติดตาม ประสานงาน แก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการซาอุดิอาระเบีย กรณีเกิดเหตุขัดข้องในระหว่างการดำเนินงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Hajj) (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2565)
จากแผนการดำเนินกิจการฮัจย์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในเชิงยุทธศาสตร์ผนวกกับการขับเคลื่อนงานเชิงรุกของภาครัฐ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นับตั้งแต่กิจการฮัจย์ได้มาอยู่ในสังกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนกระทั่งปัจจุบัน ได้นำไปสู่ผลงานที่ประทับใจแก่ผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ คือการออกวีซ่าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Hajj) ได้ครบตามจำนวนผู้เดินทางที่ลงทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง นับเป็นหนึ่งในประเทศต้นๆ จนได้รับเสียงสะท้อนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและประเทศซาอุดิอาระเบียสำหรับ
ค่าใช้จ่ายที่ฝ่ายซาอุดิอาระเบียเรียกเก็บเป็นค่าบริการต่างๆ ในการประกอบพิธีฮัจย์ โดยผ่านระบบ E-Hajj เพื่อยื่นขอ VISA มีรายการดังต่อไปนี้
1. ค่าประกันกระทรวงฮัจย์ (Hajj Mission Warrantry)
2. ค่าบริการอาหารและที่พักช่วงการแสวงบุญพิธีฮัจย์
3. ค่าบริการพื้นฐาน ค่าธรรมเนียมบริการหน่วยงานต่างๆ
4. ค่าบริการรถยนต์ตลอดการแสวงบุญพิธีฮัจย์
5. ค่าธรรมเนียม VISA HAJJ
6. ค่าอาหารช่วงการพำนัก ณ เมืองมักกะฮ์ และเมืองมะดีนะฮ์
7. ค่าประกันสุขภาพของผู้ไปแสวงบุญพิธีฮัจย์
8. ประกันภัยโควิด-19 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ซาอุดิอาระเบียให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการป้องกันและดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้แสวงบุญอย่างเท่าเทียมกัน โดยกำหนดค่าประกันภัยโควิด-19 สำหรับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ต่างชาติ เป็นจำนวนเงินคนละ 28.75 ริยาลซาอุดี (287.50 บาท )
จากการประชุมเตรียมการฮัจย์ประจำปี พ.ศ. 2565 ของคณะผู้แทนฮัจย์ของประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบีย ได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติในกิจการฮัจย์หลังวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการนำระบบออนไลน์ของซาอุดิอาระเบีย (E-Hajj) มาปรับใช้ทุกช่องทางและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮัจย์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ในการได้รับการบริการดูแลจากผู้ประกอบการอย่างมีคุณภาพ รวมถึงระเบียบประกันภัยทั่วไปและประกันภัยโควิด-19 สำหรับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ทุกคนที่เป็นหลักประกันความความปลอดภัย ลดภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพเป็นสำคัญ (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2565)
การบริหารจัดการวีซ่าสำหรับผู้แสวงบุญผ่านระบบ E-Hajj
วีซ่าผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์จัดเป็นเรื่องสำคัญและได้รับความสนใจจากพี่น้องมุสลิมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเดิมนั้นผู้ประกอบกิจการฮัจย์จะเป็นผู้ดำเนินการยื่นขอวีซ่าต่อทางสถานทูตซาอุดิอาระเบียโดยตรง แต่ทางการตรวจพบว่า มีการยื่นเอกสารผู้แสวงบุญบางส่วนไม่ตรงกับข้อมูลผู้เดินทางจริง ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว สถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย จึงกำหนดให้กรมการปกครองประสานโดยตรงกับทางสถานทูต ในการนำหนังสือเดินทาง และเอกสารต่างๆ ของผู้แสวงบุญ เช่น บัตรโดยสารเครื่องบิน สัญญาเช่าที่พัก สมุดฉีดวัคซีน หนังสือรับรองศาสนาและหนังสือรับรองเครือญาติ เป็นต้น เพื่อยื่นต่อทางสถานทูต โดยกรมการปกครองเป็นผู้ดำเนินการเอง
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนขอวีซ่าในอดีตนั้น ประสบกับปัญหาเรื่องผู้แสวงบุญบางคนไมได้รับวีซ่า อันเนื่องมาจากมีผู้ประกอบกิจการฮัจย์บางรายดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องให้กับผู้แสวงบุญในสังกัด ไม่ครบถ้วนตามระเบียบของไทยและซาอุดิอาระเบีย ทำให้สถานทูตไม่สามสารถออกวีซ่าผู้แสวงบุญดังกล่าวได้ จนทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ตามกำหนดการ ซึ่งทางราชการได้พยายามหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหาวีซ่าผู้แสวงบุญตลอดมา (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2565)
ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการไทยจะมีวิธีบริหารจัดการจำนวนผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ โดยให้ผู้ประกอบกิจการฮัจย์แต่ละรายแจ้งจำนวนผู้เดินทาง ซึ่งวิธีนี้จะประสบกับข้อขัดข้องในประเด็นของการได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงกับจำนวนผู้เดินทางจริง กล่าวคือ บางครั้งมีผู้เดินทางจริงมากกว่าจำนวนที่แจ้งมา ทำให้ต้องขอโควตาเพิ่มเติม และบางครั้งมีผู้เดินทางน้อยกว่าจำนวนที่แจ้ง ทำให้ได้รับการท้วงติงจากทางการซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากได้เตรียมการด้านต่างๆไว้แล้ว โดยเฉพาะเต็นท์ที่พักที่ตำบลมีนาซึ่งเป็นที่พักของผู้แสวงบุญในระหว่างการประกอบพิธีฮัจย์ที่มีจำกัด และเป็นที่ต้องการของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม , 2560)
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ทางราชการจึงได้นำระบบลงทะเบียนออนไลน์ตามแบบสากลที่โลกมุสลิมและนานาประเทศนิยมและให้การยอมรับ มาใช้ในการบริหารจัดการจำนวนผู้แสวงบุญโดยเปิดให้มีการลงทะเบียนออนไลน์ สำหรับผู้ประสงค์จะเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ในลักษณะผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการปกครอง โดยแสดงความจำนงผ่านผู้ประกอบกิจการฮัจย์ ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะเป็นไปตามลำดับคิวก่อนหลัง เป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องมุสลิมได้สิทธิเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์อย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและโปร่งใส
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย จึงกำหนดให้มีการลงทะเบียนในระบบออนไลน์ และเก็บเงินประกันการเดินทางคนละ 80,400 บาท ซึ่งเริ่มดำเนินการขึ้นในปี พ.ศ. 2560 เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจนในจำนวนและรายชื่อผู้ลงทะเบียนที่มีความประสงค์จะเดินทางจริง โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปเป็นค่าบริการและค่าพาหนะที่ทางการซาอุดิอาระเบียเรียกเก็บ และค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน เพื่อเป็นหลักประกันในการเดินทางของผู้แสวงบุญว่า จะมีเครื่องบินเดินทางแน่นอน ทั้งนี้เป็นการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางโดยเครื่องบินของผู้แสวงบุญที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เนื่องจากเคยขึ้นในหลายๆปีที่ผ่านมาแล้วก่อนหน้าที่จะมีระบบออนไลน์ ซึ่งการเก็บเงินประกันการเดินทางดังกล่าว ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีจำนวนผู้เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2561)
ผลจากการที่กรมการปกครองได้นำระบบการลงทะเบียนออนไลน์มาใช้บริหารจัดการจำนวนผู้แสวงบุญชาวไทยอย่างเต็มรูปแบบนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานให้ทันสมัยตามแบบสากล เพื่อสอดรับกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Hajj) ของซาอุดิอาระเบีย ในการช่วยให้การบริหารจัดการจำนวนผู้แสวงบุญ มีความชัดเจน ได้ข้อยุติที่เร็วขึ้น โดยทางการได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบตามลำดับและใช้มาจนถึงปัจจุบัน
พันธกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในกิจการฮัจย์ไทย
ประเทศซาอุดิอาระเบียมีข้อกำหนดให้การรับและจ่ายเงินต้องดำเนินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมการปกครองในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบกิจการฮัจย์ ได้มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่เสมอ ทำให้เห็นถึงแนวทางการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดอบรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยหน่วยงานภายนอกเป็นประจำทุกปี ซึ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีความจำเป็นในการพัฒนาและใช้งานระบบดิจิทัลต่าง ๆ มากขึ้น โดยกำหนดพันธกิจ ดังนี้
1. สร้างกลไกการบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ตามแนวทางมาตรฐานสากล
2. บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้เพียงพอ ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
3. พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบสารสนเทศ และระบบฐานข้อมูลที่สามารถสนับสนุนภารกิจขององค์กรได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว
4. เป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศด้านการส่งเสริมกิจการฮัจย์ที่เป็นมาตรฐานแบบบูรณาการ และสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทั้งองค์กรอย่างยั่งยืน
5. เพิ่มประสิทธิภาพระบบสารสนเทศและการบริการข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็วแก่ผู้รับบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย
6. พัฒนาบุคลากรทุกระดับ ให้มีขีดสมรรถนะและทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ในการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2561)
นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบออนไลน์และสารสนเทศในกิจการฮัจย์ไทย
ในปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศโดยมุ่งหวังให้หน่วยงานทุกระดับมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับทิศทางที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบราชการมากขึ้นตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) อันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริการประชาชน ด้วยเหตุนี้ ทุกหน่วยงาน รวมถึงกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ จึงต้องทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในด้านดังกล่าว ตลอดจนมีการทบทวนและปรับปรุงแผนทุกปี เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาลและโลก ซึ่งแผนแม่บทสารสนเทศสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561-2565) ได้จัดทำขึ้นโดยสัมพันธ์กับแผนและยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้
1. นโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)
ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการยกระดับเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้นด้วยการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ประเทศไทยมั่นคงและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ฉะนั้นระบบราชการที่เปรียบได้กับเสาหลักในการพัฒนาประเทศจึงต้องเร่งปฏิรูปให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัวในการขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงาน เป็นที่ประทับใจของประชาชนในฐานะผู้รับบริการ
2. แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2559-2578
รัฐบาลไทยโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับนี้ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการผลักดันให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางความคิดในทุกภาคส่วน การปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจ การผลิต การค้า และการบริการ การปรับปรุง ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อันจะนำไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาลในท้ายที่สุด
3. แผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560 – 2564
แผนยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560 – 2564 มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล งานตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทย และงานในระดับพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาอย่างมั่นคงและสมดุล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
4. แผนยุทธศาสตร์กรมการปกครองประจำปี พ.ศ.2560 – 2564
โดยการนำนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และยุทธศาสตร์ทุกระดับที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับภารกิจของกรมการปกครองมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ตลอดจนการรวบรวมความคิดเห็นจากบุคลากรผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้การปฏิบัติงานของกรมการปกครอง สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยและยุทธศาสตร์ระดับชาติ นำไปสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมและเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด (กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2561)
จากแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยให้ความตระหนักแก่ผู้แสวงบุญชาวไทยที่เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของการส่งเสริมกิจการฮัจย์ของรัฐบาลไทยในการดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมชาวไทยมุสลิมให้เดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ได้อย่างสะดวกสบาย จึงได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบออนไลน์และสารสนเทศในกิจการฮัจย์ไทย เพื่อสอดรับกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Hajj) ของซาอุดิอาระเบียที่นำมาใช้อย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานกิจการฮัจย์ไทยให้ทันยุคสมัย
บทสรุป
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการเดินทางไปแสวงบุญพิธีฮัจย์ของชาวมุสลิมทั่วโลก ทางการซาอุดิอาระเบียได้ประกาศรับผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ ในปี พ.ศ. 2563 เฉพาะผู้แสวงบุญภายในประเทศเท่านั้น จำนวน 1,000 คน และในปีถัดมาก็ได้เพิ่มจำนวนผู้แสวงบุญภายนอกเข้ามา ทางการซาอุดิอาระเบีย จึงได้กำหนดให้ทุกประเทศที่มีผู้แสวงบุญเดินทางเข้ามา ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้แสวงบุญทั่วโลกมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทรวงฮัจย์ซาอุดิอาระเบีย จึงได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-Hajj มาใช้เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ทุกประเทศที่มีผู้แสวงบุญ ต้องมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงกับระบบ E-Hajj รวมถึงขั้นตอนการยื่นวีซ่า เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการของซาอุดิอาระเบีย ดังนั้นก่อนการยื่นขอวีซ่าผู้แสวงบุญต่อสถานทูต ทุกประเทศต้องทำการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่านระบบดังกล่าว อาทิ จำนวนและรายชื่อผู้แสวงบุญ กำหนดเวลาเดินทาง เที่ยวบิน ที่พักทั้งที่เมืองมักกะห์และเมืองมะดีนะห์ และอื่นๆ ภายในกรอบเวลาที่กำหนด ทางสถานทูตซาอุดิอาระเบียจึงจะสามารถออกวีซ่าผู้แสวงบุญได้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้มีการประชุม ชี้แจง ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการฮัจย์พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องผ่านระบบ E-Hajj ตามระเบียบของซาอุดิอาระเบีย เพื่อให้การดำเนินการยื่นขอวีซ่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (2548) คู่มือการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (2552) ประวัติการประกอบพิธีฮัจย์ของศาสดามุฮัมมัด. พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (2554) พระราชบัญญัติ กฏหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวกับกิจการฮัจย์. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (2560) ผลการดำเนินงานกิจการฮัจย์ ประจำปี 2559 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
กระทรวงฮัจย์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย (2558) เอกสารประชุมสัมมนาหัวข้อ ทิศทางในการพัฒนาและการบริหารจัดการฮัจย์ของประเทศซาอุดิอาระเบียในกรอบวิสัยทัศน์ 2030 พิมพ์ครั้งที่ 1 กระทรวงฮัจย์
กระทรวงฮัจย์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย (2561) ระเบียบการจัดองค์การกิจการฮัจย์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย พิมพ์ครั้งที่ 2 กระทรวงฮัจย์
กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, (2561) คู่มือการบริหารความเสี่ยง,
กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, (2565) รายงานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (2560) 15 ปี กิจการฮัจย์ไทยภายใต้การกำกับดูแลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัดhttps://www.krungsri.com/th/research , สืบค้น 03/11/2565)
วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก
เลขที่ 3 ซ.รามอินทรา 1 (อาคาร 2 ชั้น 4)
แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220
Email: iicb.krirk@gmail.com
Facebook: IICB วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ
Tel: 02-970-5820 ต่อ 640, 641