การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่มีการหารือถึงการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลที่สามารถสร้างมูลค่าการส่งออกไปยังพี่น้องชาวมุสลิม ทั้งในตะวันออกกลางหรือแอฟริกาได้อย่างมหาศาล ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงเห็นควรให้ยกระดับความสำคัญของหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มีสถานะเป็นกรมอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสังคมมุสลิมไทยที่จับตามองการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าดำริของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อองคาพยพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานราชการอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรทางศาสนาอิสลาม รวมถึงแวดวงวิชาการ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยรัฐมนตรีว่าการประกาศรับลูกทันทีในประเด็นการศึกษาความเป็นไปในการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยการเรียกหน่วยงานกว่า 11 หน่วยงาน ที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ฮาลาล ข้อสรุปเบื้องต้นจากการพูดคุยต่อเนื่องหลายวาระเห็นพ้องให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ นอกจากนี้ในช่วงเริ่มต้นจะจัดตั้งเป็นหน่วยงาน (องค์การมหาชน) ที่สังกัดอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม และจะมีการผลักดันก่อตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากลอย่างเต็มที่ รวมทั้งประสานการทำงานของหน่วยงานฮาลาลไทยที่มีอยู่เดิมทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมยังกล่าวถึงประเด็นข้อกังวลขององค์กรทางศาสนาอย่างคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้น กระทรวงย้ำว่าอำนาจหน้าที่ขององค์กรศาสนาจะยังคงเดิม เพียงแต่ต้องการให้มีหน่วยงานระดับกรมเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย
ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ในฐานะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีหลักสูตรที่บูรณาการวิชาบริหารธุรกิจเข้ากับหลักการของศาสนาอิสลามอย่างวิชาเอกการจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ วิชาเอกการเงินอิสลาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาเอกอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Industry) ที่มีการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮาลาล พร้อมขานรับนโยบายการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลของนายกรัฐมนตรี ที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่สากลด้วยการสร้างมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ฮาลาล ไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ตลอดจนธุรกิจการบริการ เป็นการสร้างความเชื่อถือในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศมุสลิมและประเทศที่มิใช่มุสลิม นอกจากวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพจะมีพันธกิจทางการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมฮาลาลแล้ว การสร้างเครือข่ายด้านฮาลาลระดับนานาชาติยังเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่วิทยาลัยให้ความสำคัญ อันเป็นการสร้างความรู้และแลกเปลี่ยนด้านวิชาการระหว่างกัน โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างประเทศซาอุดิอาระเบียและมาเลเซียที่ตอบรับเข้าร่วมสร้างความร่วมมือเชิงวิชาการแล้วในเบื้องต้น
ด้านอาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านซาอุดิอาระเบีย ให้ข้อมูลว่า องค์การอาหารและยา ซาอุดิอาระเบีย หรือ Saudi Food and Drug Authority (SFDA) เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของรัฐบาลซาอุฯ ที่มีหน้าที่หลักคือ การรับรองความปลอดภัยของอาหาร ยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ ความปลอดภัยของสารชีวภาพและเคมี ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ และมีพันธกิจสำคัญคือการเป็นองค์การดูแลการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่สำคัญของโลก เนื่องจากซาอุฯ เป็นตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ของโลก นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาซาอุฯ ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนาองค์กรด้านฮาลาล เนื่องด้วยมีระบบการทำงานและตรวจสอบที่ได้มาตรฐานสากล และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย และที่สำคัญยิ่งเมื่อปี 2563 องค์การอาหารและยาซาอุฯ ได้ประกาศรับรองให้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่มีความร่วมมือ (Cooperation Bodies) ในเรื่องการออกประกาศนียบัตรฮาลาลกับศูนย์ฮาลาลขององค์การอาหารและยาซาอุฯ เป็นเรียบร้อยแล้ว จึงถือได้ว่าสินค้าไทยที่ได้รับเครื่องหมาย/ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับ (Mutual recognition) ขององค์การอาหารและยาซาอุฯ ด้วยเช่นกัน อันเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างความร่วมมือและยกระดับความเชื่อมั่นด้านฮาลาลระหว่างสองประเทศให้มีมากขึ้นในอนาคต
วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก
เลขที่ 3 ซ.รามอินทรา 1 (อาคาร 2 ชั้น 4)
แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220
Email: iicb.krirk@gmail.com
Facebook: IICB วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ
Tel: 02-970-5820 ต่อ 640, 641