ม.เกริก คว้าทุนฝึกปฏิบัติงานประเทศซาอุดิอาระเบีย

ม.เกริก คว้าทุนฝึกปฏิบัติงานประเทศซาอุดิอาระเบีย ลั่น ! เน้นทักษะภาษาอาหรับ และการจัดการบริการฮัจย์ อุมเราะห์ และท่องเที่ยว หลังครบ 1 ปี ฟื้นสัมพันธ์ไทย - ซาอุฯ วันที่ 17 มีนาคม 2566 ณ หอประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริก ทางวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ร่วมกับ บริษัท มะชาริก เพื่อกิจการฮัจย์ของกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดปฐมนิเทศนักศึกษาผู้มีสิทธิสอบคัดเลือกทุนฝึกปฏิบัติงาน โดยมี ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ ประกอบด้วยนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ(อะมีรุ้ลฮัจย์) ประจำปี 2566 นายเสก นพไธสง รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ นายประสาร บุญส่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยนายฐานิศร์ ณ สงขลา อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศบาห์เรน และอดีตกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นายบัญญัติ ยุมยวง อดีตกงสุลฝ่ายกิจการฮัจย์ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย นายไพศาล กาเหย็ม นายกสมาคมผู้ประกอบการกิจการฮัจย์ นายเอกพงษ์ ยีหล๊ะ นายกสมาคมแซะห์แห่งประเทศไทย อาจารย์ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม อาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีวิทยาลัยนานาขาติอิสลามกรุงเทพ ร่วมเป็นผู้แทนสอบคัดเลือกนักศึกษาฝึกปฏิบัติงาน กับบริษัท มะชาริก ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อาจารย์อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกริกเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่รัฐบาลไทยเยือนซาอุดีอาระเบีย และได้เดินทางไปทำความร่วมมือในมิติการศึกษา ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการบริหารจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ ว่ามีความสำคัญกับชาวไทยมุสลิมและยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยเกริก โดยศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก และผู้บริหารระดับสูง ร่วมให้การสนับสนุนการศึกษาของวิทยาลัยนานาขาติอิสลามกรุงเทพมาโดยตลอด และเปิดโอกาสในนักศึกษาไทยมุสลิมเข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเกริกอย่างต่อเนื่อง จนวิทยาลัยฯได้มีหลักสูตรการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งถือเป็นสถาบันศึกษาเดียวในประเทศที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าว และยังตอบโจทย์กับตวามต้องการของนักศึกษาไทยมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเป้าหมายด้านการเป็นผู้ประกอบการและผู้นำกลุ่ม(แซะห์)ฮัจย์และอุมเราะห์จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ได้กล่าวว่า สืบเนื่องจากการบริหารองค์กรฮัจย์ทั่วโลก มีบริษัทดูแล ทั้งหมด 6 บริษัท ซึ่งประเทศไทย อยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท มะชาริก ที่ดูแลภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีท่านชัยคฺ มะห์มูด อะกี้ล ดะมันฮูรีย์ คณะกรรมการ บริษัท มะชาริก เดินทางมาประเทศไทย และได้พูดคุยให้คำแนะนำแก่นักศึกษาเอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ณ มหาวิทยาลัยเกริก ส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้รับโอกาสจากท่านชัยค์ มะห์มูด อะกี้ ดะมันฮูรีย์ ที่ท่านมีความประทับใจและแสดงความยินดีกับวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านการบริหารจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ ท่านจึงได้ประกาศมอบทุนฝึกปฏิบัติงานแก่นักศึกษาจำนวน 10 ทุน เพื่อทำการฝึกงานในช่วงฤดูกาลฮัจย์ ปี พ.ศ.2566 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

ดร.ปริญญา ย้ำว่า ศ.ดร. นพ. กระแส ชนะวงศ์ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ต่อการศึกษาของนักศึกษามุสลิมไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้วิทยาลัยมีโอกาสและมีพื้นที่ให้นักศึกชาวมุสลิมได้ศึกษาในบริบทที่มีความหลากหลาย โดยไม่มีเส้นแบ่งระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่ได้เห็นวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้ก้าวมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เพื่อคัดเลือกบุคคลที่จะไปปฏิบัติงานกับบริษัท มะชาริก เพื่อกิจการฮัจย์ ประจำปี 2566 เพื่อให้การดูแลผู้ประกอบพิธีฮัจย์จากหลากหลายประเทศ นับว่ามหาวิทยาลัยเกริก ได้รับโอกาสสำคัญยิ่งจากประเทศซาอุดีอาระเบีย และไม่เคยมีมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทยได้รับโอกาสเช่นนี้มาก่อน และภาคภูมิใจที่ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้ริเริ่มในหลักสูตรการศึกษาภาคธุรกิจอิสลาม ทั้ง 3 หลักสูตร และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีการทำความร่วมมือระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยของไทยและซาอุฯ ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกและมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่มีการทำความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ. กระแส ชนะวงศ์ ได้กล่าวขอบคุณชัยค์มะห์มูล อะกี้ล ดะมันฮูรีย์ ที่สนับสนุนหลักสูตรบริหารธุรกิจอิสลาม กล่าวชื่นชม และมอบทุนอบรมฝึกงาน จำนวน10 ทุนแก่ นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริกอีกด้วย หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ

นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล อะมีรุ้ลฮะจย์ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับฮัจย์ว่า การพัฒนาฮัจย์ไทยต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของซาอุฯ 2030 ซึ่งมีบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทันต่อความสะดวกและความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรูปแบบองค์กร รูปแบบการจัดการในระบบดิจิทัล เพื่อจัดระเบียบและควบคุมผู้คน ที่จะมีการเพิ่มจำนวนผู้ทำฮัจย์มากขึ้น นอกจากนี้ท่านซากีย์ได้กล่าวชื่นชม มหาวิทยาลัยเกริก ที่ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และมีหลักสูตรการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่สำคัญที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาองค์กรฮัจย์ไทยที่แท้จริง และกล่าวชื่นชมในวิสัยทัศน์ของท่านศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ที่ให้การสนับสนุนและเกิดหลักสูตรนี้ และเน้นย้ำว่าการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับนักศึกษาไทยจำเป็นต้องเดินหน้าเรื่องภาษาอาหรับและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย อาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามวิสัยทัศน์ 2030 ของประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่งเสริมพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และต้องการแรงงานด้านการบริการ การท่องเที่ยวจำนวนมาก เราจึงมุ่งมั่นผลิตบุคลากรด้านการจัดการบริการฮัจย์ อุมเราะห์ และการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล พร้อมกับพัฒนาทักษะด้านภาษาอาหรับ อังกฤษ และจีน ให้กับนักศึกษา เพื่อต่อยอดการทำงาน ป้อนสู่ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย และในอีก 2 ปี ข้างหน้าจะมีบัณฑิตรุ่นแรกสำเร็จการศึกษา สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย ในความเป็นสยามเมืองยิ้มที่เผยแพร่วัฒนธรรมไทยในตะวันออกกลาง และทั่วโลก

กิจกรรม
โทร : 02-970-5820
  Fackbook